นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า สาเหตุที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจมากขึ้นตามความเสี่ยงของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกมากที่สุด
ธปท.ระบุว่าขณะนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความพร้อมจะสนับสนุนสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจได้ เพราะมีเงินทุนมากพอ โดยจะเห็นจากการเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS)ทั้งระบบสูงถึง 15% เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท.ที่ 8.5% และธนาคารพาณิชย์เองก็มีความต้องการปล่อยสินเชื่อ เพราะถือเป็นธุรกิจหลัก แต่ก็ต้องขึ้นกับฐานะและความเสี่ยงของลูกค้า
ส่วนกรณีที่ธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้าธุรกิจนั้น ธุรกิจส่งออกน่าจะถูกกระทบมากที่สุดนั้น คงมีผลต่อธุรกิจส่งออกบ้าง ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำได้คือการปรับตัวหาตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม พื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่ง ไม่มีปัญหาฟองสบู่แตกเหมือนกับหลายประเทศ รวมถึงระบบสถาบันการเงินไทยเองก็ไม่ได้มีปัญหาเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ ไทยต้องแยกตัวให้ออกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวให้ได้
นายเกริก กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ธปท.สนับสนุนกรณีที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) และ ธนาคารออมสิน ร่วมสนับสนุนเงินกู้จำนวน 100,000 ล้านบาทให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เพื่อนำไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว เพราะเป็นผลดีต่อเกษตรกร และ ถือว่าเป็นการปล่อยกู้ตามเกณฑ์ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน เพราะมีสูงถึง 1 ล้านล้านบาท
“ตามกฎหมายใหม่ ธปท.ไม่สามารถที่จะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอีได้อีกแล้ว ดังนั้นหากเอสเอ็มอีเดือดร้อน ไม่ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงิน คงต้องอาศัยกลไกรัฐบาลแทน ด้วยการให้รัฐช่วยเหลือหรือไม่ก็ต้องให้ธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอีแบงก์) เข้ามาปล่อยกู้แทน"นายเกริกกล่าว