นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในวันนี้ เนื่องจากนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงพาณิชย์นำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปทบทวนรายละเอียดเกี่ยวกับถ้อยคำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะมาตรการดูแลผู้ค้าปลีกรายย่อย(โชห่วย)ของไทย
ก่อนหน้านี้ รมว.พาณิชย์ เคยเสนอ ครม.ให้พิจารณากฎหมายเรื่องดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง แต่นายโอฬารได้สั่งให้นำกลับไปทบทวน โดยครั้งแรกให้เหตุผลว่าควรจะให้ ครม.ทุกคนได้พิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายก่อน ครั้งนี้ขอให้กลับไปพิจารณารายละเอียดให้ครบถ้วน
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นายโอฬารขอให้กระทรวงพาณิชย์ทำรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่าร่างกฎหมายที่เสนอมาครั้งนี้ และเสนอเข้าสู่ ครม.ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายที่เสนอครั้งนี้มุ่งคุมการทำธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่(โมเดิร์นเทรด) อย่างชัดเจน แต่ตนเองยืนยันที่จะช่วยโชห่วยต่อไป โดยกำลังหาทางออกกฎกระทรวงภายใต้กฎหมายที่มีอยู่นำมาบังคับใช้ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายค้าปลีก
ด้าน นายควินตัน มาล์ก เควล เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ได้แจ้งให้ รมว.พาณิชย์ ทราบว่า หากจะออก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ขอให้ปรึกษาบริษัทที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะมีหลายบริษัทค้าปลีกต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย เช่น เทสโก้ โลตัส, คาร์ฟูร์ ซึ่งรมว.พาณิชย์ ยืนยันที่จะดำเนินการให้
ส่วนกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้รับคำยืนยันจาก รมว.พาณิชย์ ว่าจะไม่มีการแก้ไขในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นข้อดีที่จะสนับสนุนบรรยากาศการลงทุน
ขณะที่ นายพันธุ์เทพ สุลีสถิร ประธานสมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกข้ามชาติ กล่าวว่า จะหารือกับตัวแทนสมาพันธ์ฯว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หลังจาก ครม.สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนร่างกฎหมายอีกครั้ง แต่ในเบื้องต้นอาจจะรวมตัวผู้ประกอบค้าปลีกรายย่อยไปยื่นหนังสือถึงนายโอฬารเพื่อขอให้เร่งรัดผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพราะเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ
ส่วน นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า จะรอดูท่าทีจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน เพราะ รมว.พาณิชย์รับปากว่าจะเร่งผลักดันกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ หากมีเหตุขัดข้องก็จะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อคุมการขยายสาขาของค้าปลีกขนาดใหญ่ ดังนั้นหากกระทรวงพาณิชย์ไม่ดำเนินการใดๆเลย ผู้ประกอบการคงต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมา
"ผิดหวังกับท่าทีของนายโอฬาร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ แต่กลับดูแลแต่ตลาดทุน มุ่งปกป้องผลประโยชน์ของคนรวย ขณะที่คนจนรอการช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งการแสดงออกที่ผ่านมาก็รู้ได้ว่ารองนายกฯ เลือกช่วยข้างใด พอเวลาตลาดทุนมีปัญหาจะรีบออกมาตรการมาช่วยเหลือคนรวย ทั้งๆ ที่ยังไม่ร้องขอความช่วยเหลือ แต่ขณะที่กลุ่มโชห่วยร้องให้ออกกฎหมายมานาน ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเสียที" นายสมชาย กล่าว
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวาระแรกมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง 3 ประเภทจะต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจจากคณะกรรมการกำกับดูแลการค้าปลีกค้าส่ง ประกอบด้วย ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป, ผู้ประกอบการที่มียอดขายตั้งแต่ปีละ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และผู้ประกอบการที่มีระบบเครือข่ายและมียอดขายรวมกันตั้งแต่ปีละ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป