ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดจีดีพี Q3/51โตแค่ 4.3%ชะลอต่อเนื่อง Q4/51ยาวถึง H1/52

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2008 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 3/51 จะอยู่ที่ 4.3% ชะลอตัวลงอย่างมากจาก 5.3% ในไตรมาสที่ 2/51 และในไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มที่อาจลดลงไปต่ำกว่า 4% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

"จากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/51 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวมากขึ้น โดยอาจขยายตัวต่ำกว่า 4.0% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของทั้งปี 51 อาจอยู่ระหว่าง 4.7-5.0% และคาดว่าอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงนี้จะยังคงต่อเนื่องไปในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 52" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

สาเหตุสำคัญมาจากการลงทุนชะลอตัวลง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกและการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การบริโภคอาจยังไม่ดีขึ้นมากนักเนื่องจากแรงกดดันราคาสินค้ายังคงเป็นระดับที่สูง โดยอัตราเงินเฟ้อลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7.3% จาก 7.5% ในไตรมาสที่ 2/51 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ขณะที่กิจกรรมในภาคการผลิตส่วนใหญ่อ่อนแรงลงทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ส่วนภาคการก่อสร้าง การท่องเที่ยว และภัตตาคารอาจหดตัวลง

สำหรับแนวโน้มไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงปี 52 ความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกประเทศสูงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐส่งผลลุกลามรุนแรงกลายเป็นวิกฤติการเงินในระดับโลก ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

"ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งคงจะเริ่มเห็นการชะลอตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4/2551 และผลกระทบคงจะปรากฏชัดยิ่งขึ้นในปี 2552 ขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่งออกหลายประเภทของไทยเริ่มออกมาระบุว่าคำสั่งซื้อใหม่ที่จะส่งมอบในปีหน้าลดลงอย่างน่าเป็นห่วง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เห็นว่า ท่ามกลางสภาวะที่โลกเผชิญวิกฤติอย่างหนักหน่วง สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนจะยิ่งฉุดรั้งโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบต่อปัจจัยความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภค นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

"การลงทุนจากต่างประเทศและการท่องเที่ยวของต่างชาติก็มีแนวโน้มถูกกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคประเทศต่างๆ รวมทั้งปัญหาสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ตึงตัวอยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์การเมืองของไทยยังมีความไม่สงบ ก็จะยิ่งส่งผลให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่ยังมีศักยภาพเลือกที่จะหันไปหาประเทศอื่นที่มีความสงบเรียบร้อยและมีปัจจัยดึงดูดมากกว่าประเทศไทย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ส่วนปัจจัยที่คาดว่าอาจจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ คือ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงได้มาก ขณะที่กลไกขับเคลื่อนเศรษบกิจภาคเอกชน คือ การส่งออก การบริโภคและการลงทุนของเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว หลายฝ่ายจึงคาดหวังต่อบทบาทของภาครัฐในการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเองก็มีแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่าย ผลักดันโครงการลงทุนในเมกะโปรเจคต์ และการจัดทำงบกลางปีสำหรับปีงบประมาณ 52 เพิ่มเติมอีก 100,000 ล้านบาท

"ถ้าสามารถดำเนินการให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงจะมีส่วนช่วยให้จีดีพีเติบโตเพิ่มขึ้นและช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานได้ ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงจะเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้มากขึ้นเพื่อประสานกับนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ