ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์อย่างคับคั่ง หลังจาก บารัค โอบามา คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินเยนหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.2910 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.3032 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์ดิ่งลงแตะระดับ 1.5899 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.6016 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 98.300 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 99.610 เยน/ดอลลาร์ แต่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1628 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1594 ฟรังค์/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.6843 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันอังคารที่ 0.7004 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.5983 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6058 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
ภาวะการซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตราคึกคักขึ้นเมื่อมีรายงานว่า โอบามา ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเหนือนายจอห์ แมคเคน คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน นอกจากนี้ พรรคเดโมแครตยังได้ครองเสียงข้างมากเพิ่มขึ้นทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ทางพรรคสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วในการผลักดันนโยบายของนายโอบามา
ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 ที่สมาชิกพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งทั้งสองสภา และยังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งนักวิเคราะห์ทางการเมืองเชื่อว่าเดโมแครตได้แรงหนุนจากกระแสต่อต้านพรรครีพับลิกันที่เกิดจากการที่ประชาชนเสื่อมความนิยมในตัวประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และจาก "กระแสปลื้ม" ของชาวอเมริกันที่มีต่อโอบามา
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากการที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมช่วงเย็นวันพฤหัสบดีนี้ตามเวลาประเทศไทย หลังจากเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงอย่างหนักและสถาบันการเงินใน 27 ประเทศสหภาพยุโรปขาดเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยนเพราะได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐ รวมถึงข้อมูลจาก ADP Employer Services ที่บ่งชี้ว่า ภาคเอกชนลดการจ้างงานลงมากที่สุดในรอบ 6 ปีในเดือนต.ค. และแผนการปลดพนักงานของบริษัทเอกชนพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี ขณะที่สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ระบุว่า ภาคบริการของสหรัฐหดตัวลง อย่างรุนแรงในเดือนต.ค.
การจ้างงานในภาคเอกชนที่ร่วงลงอย่างหนักส่งผลให้นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) เดือนต.ค.ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขจ้างงานจะร่วงลงอีก 200,000 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และคาดว่าดัชนีภาคการผลิตจะทรุดตัวลงรวดเร็วสุดในรอบ 7 ปี