เอ็ดดี้ ปิเอเนียเซ็ค ผู้อำนวยการบริษัท Ascend ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบิน แสดงความคิดเห็นในระหว่างการประชุมที่ฮ่องกงว่า บริษัท โบอิ้ง โค และบริษัท แอร์บัส เอสเอเอส อาจมีเครื่องบินใหม่ค้างสต็อกอยู่ในคลังสินค้าสูงถึง 200 ลำในปีหน้าเนื่องจากไม่มีผู้สั่งซื้อ ซึ่งเป็นผลมาจากสายการบินทั่วโลกไม่สามารถระดมทุนเพื่อจ่ายเป็นค่าเครื่องบินได้ เนื่องจากวิกฤตการณ์สินเชื่อที่ลุกลามไปทั่วโลก
"การระดมทุนในธุรกิจสายการบินเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งผมไม่มั่นใจว่าพวกเขาจะหาแหล่งระดมทุนได้จากที่ใด และหากพวกเขาไม่สามารถระดมทุนได้ เราคงได้เห็นเครื่องบินลำใหม่ๆ 200 ลำจอดแช่อยู่ในสต็อกสินค้าของโบอิ้งและแอร์บัส" เพนนีเซ็ค
เจพีมอร์แกนคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า แอร์บัสและโบอิ้ง สองผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่สุดของโลก อาจขายเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้เพียง 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีหน้า เนื่องจากตลาดสินเชื่อทั่วโลกตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายจนทำให้สายการบินหลายแห่งกู้เงินได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหลังจากเกิดเหตุการณ์ล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และวอชิงตัน มูชวล
คาเธ่ย์ แปซิฟิก ซึ่งเป็นสายการบินรายใหญ่สุดของฮ่องกงคาดการณ์ว่า ผลประกอบการในปีนี้อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม ซึ่งเป็นสายการบินรายใหญ่สุดของยุโรป คาดการณ์ว่า ผลประกอบการปีนี้อาจต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากวิกฤตการณ์สินเชื่อและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ความต้องการการเดินทางทางอากาศลดน้อยลงด้วย
ไมค์ สกินเนอร์ ซีอีโอบริษัท AMS Aircraft Ltd ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบินอีกรายหนึ่งกล่าวว่า การระดมทุนที่เป็นไปอย่างยากลำบากกำลังฉุดรั้งมูลค่าราคาเครื่องบินมือสองให้ลดต่ำลง นอกจากนี้ สายการบินหลายแห่ง รวมถึงคาเธ่ย์ แปซิฟิก วางแผนที่จะขายเครื่องบินเพื่อลดจำนวนฝูงบินลง และคาดว่าอาจจะหาผู้ซื้อเครื่องบินมือสองของคาเธ่ย์ แปซิฟิกได้ยาก
อย่างไรก็ตาม โบอิ้งเชื่อว่าสภาพคล่องในอุตสาหกรรมสายการบินและการผลิตเครื่องบินจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังจากธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน พร้อมใจกันลดอัตราดอกเบี้ย และมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษจะลดดอกเบี้ยลงในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ด้วย สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน