ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 51 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเนื่องจากต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐที่ลุกลามไปทั่วโลก ทำให้ความต้องการนำเข้าของประเทศต่าง ๆ ชะลอตัวลง โดยคาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปี 51 จะขยายตัว 20% และปี 52 จะเหลือการขยายตัวเพียง 5-10% เพราะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักเข้าสู่ภาวะถดถอยทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น
สินค้าเกษตรและอาหารน่าจะมีแนวโน้มดีกว่าสินค้าส่งออกในกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น และไทยมีศักยภาพสูงจากการเป็นผู้ส่งออกอาหารของโลก โดยสินค้าอาหารทะเลแช่เย็น/แปรรูปของไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพทั้งในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการส่งออก 2,990 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.5%
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยมีมาตรฐานการผลิตเป็นที่ยอมรับ ช่วง 3Q/51 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องถึง 78.5% โดยเฉพาะญี่ปุ่น เนื่องจากไทยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลง JTEPA จึงยังมีแนวโน้มเติบโตสูง
นอกจากนี้ ผักและผลไม้แช่เย็น/แปรรูป ซึ่งตลาดหลักมีมาตรฐานการนำเข้าสูง เช่น มาตรฐานเกี่ยวกับสารเคมีและแมลงที่มากับผักและผลไม้ ทำให้ปริมาณการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักค่อนข้างน้อย แต่น่าจะขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะผลไม้ของไทยที่มีรสชาติโดดเด่น จึงควรเน้นการผลิตให้มีคุณภาพให้ได้มาตรฐานการส่งออก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุวา จากการที่ตลาดทั่วโลกมีความกังวลกับกรณีพบสารเมลามีนปนเปื้อนในนมและผลิตภัณฑ์นมของจีน และลุกลามไปยังสินค้าอาหารอื่นๆ เช่น ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ผัก ไข่ อาหารสัตว์ และเครื่องในสัตว์ ไทยควรใช้เป็นโอกาสขยายตลาดสินค้าต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ ต่างไม่มั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าประเภทอาหารของจีนและอาจชะลอการนำเข้าสินค้าของจีนระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอาหารของไทยต้องคำนึงถึงมาตรฐานสินค้าส่งออกมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศต่างให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของอาหารและมีกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารที่เคร่งครัด ดังนั้น สินค้าอาหารส่งออกของไทยที่ได้มาตรฐาน/มีความปลอดภัย จึงน่าจะเข้าสู่ตลาดส่งออกได้มากขึ้นและจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้มีโอกาสขยายตัวตามไปด้วย