ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 พ.ย.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อยับยั้งวิกฤตการณ์การเงินที่ลุกลามเข้าสู่ยุโรป
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.2706 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพุธที่ 1.2950 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์ดิ่งลงแตะระดับ 1.5622 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.5927 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 97.640 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 98.560 เยน/ดอลลาร์ แต่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินฟรังค์ที่ 1.1775 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1588 ฟรังค์/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.6657 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันพุธที่ 0.6855 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.5872 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.5982 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นหลังจากธนาคารกลางอังกฤษประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.5% แตะที่ 3% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายเมื่อวานี้ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะบรรเทาความเสียหายอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจถดถอย และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ระดับ 3.25% หลังจากเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนชะลอตัวลง
ขณะที่ธนาคารกลางสาธารณรัฐเช็คตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% แตะ 2.75% ตามธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ธนาคารกลางสวิสประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% สู่ระดับ 2%
ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน กล่าวว่า "แถลงการณ์ภายหลังการลดอัตราดอกเบี้ยของนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานอีซีบีถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า อีซีบีจะลดดอกเบี้ยลงอีกในไม่ช้านี้ เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินที่ลุกลามเข้าสู่ยุโรป"
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 25 ปี ขณะที่บริษัทค้าปลีกหลายแห่งในสหรัฐเปิดเผยยอดขายที่ทรุดตัวลงรุนแรงสุดในรอบ 39 ปี
ข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐทำให้นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) เดือนต.ค.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์ตามเวลาประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนต.ค.จะร่วงลงอีก 200,000 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และคาดว่าดัชนีภาคการผลิตจะทรุดตัวลงรวดเร็วสุดในรอบ 7 ปี