รัฐมนตรีคลังจาก 21 ประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) สนับสนุนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ใช้มาตรการรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินกับวิกฤตการณ์การเงินที่กำลังลุกลามเข้าไปสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกับประเทศต่างๆในภูมิภาคเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้
นอกเหนือจากการชื่นชมความพยายามของไอเอ็มเอฟแล้ว ที่ประชุมเอเปคยังตกลงที่จะเข้าร่วมในการเจรจาด้านนโยบายการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำจากกลุ่ม G20 ในระหว่างวันที่ 14-15 พ.ย.ที่กรุงวอชิงตัน พร้อมกับแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะใช้มาตรการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศสมาชิกเอเปค
นายหลุยส์ วาลดิวิเอโซ รมว.เศรษฐกิจและการคลังของเปรู กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า "สมาชิกเอเปคแลกเปลี่ยนวิศัยทัศน์เกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพในระบบการเงิน อีกทั้งยังหารือเรื่องการแก้ไขกฎข้อบังคับที่ไร้ประสิทธิภาพในปัจจุบัน อีกทั้งร่วมกับวางกรอบงานด้านการรับมือกับวิกฤตการณ์การเงิน ด้วยการใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่"
นอกจากนี้ ที่ประชุมเอเปควางแผนที่จะกำหนด "มาตรการปกป้อง" เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินที่ลุกลามไปทั่วโลก โดยที่ประชุมระบุว่า "ไม่ใช่ทุกประเทศในกลุ่มเอเปคที่ต้องการความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่เราจะกำหนดมาตรการที่จะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกเอเปคร่วมมือกันปกป้องเศรษฐกิจไม่ให้ได้รับความเสียหายจากวิกฤตการณ์การเงิน"
ทั้งนี้ สมาชิกเอเปควิเคราะห์แนวโน้มราคาอาหารในอนาคตอย่างระมัดระวัง โดยคาดว่าราคาสินค้าทางการเกษตรทั่วโลกจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยลบที่สร้างแรงกดดันต่อราคาอาหารเริ่มลดน้อยลงแล้ว อย่างไรก็ตาม สมาชิกเอเปคจะต้องเตรียมการเรื่องนี้เอาไว้ก่อน
ในการประชุมเอเปคที่เปรูครั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากองค์กรต่างๆเข้าร่วมด้วย รวมถึง ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เข้าร่วมประชุมด้วย สำนักข่าวเกียวโดรายงาน