นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ไปศึกษาราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(เอ็นจีวี)ใหม่อีกครั้งเพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน จากเดิมที่มีข้อตกลงกับ บมจ.ปตท.(PTT)ที่จะปรับขึ้นจาก 8.50 บาท/กก.ไปอยู่ที่ 12 บาท/กก.
สถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในปัจจุบันมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากช่วงนี้ราคาน้ำมันลดลงมาก อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเดิมตั้งเป้าไว้ว่าในปีนี้จะส่งเสริมให้มีการใช้เอ็นจีวีประมาณ 2,400 ตัน/วัน แต่ปัจจุบันมีการใช้ถึง 2,800 ตัน/วันแล้ว ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ และสามารถทดแทนน้ำมันได้ 5%
สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของการปลูกพืชน้ำมัน และพัฒนารูปแบบการผลิตพลังงานจากพืชแบบครบวงจรในพื้นที่ตัวอย่างเขตภาคเหนือ ปีที่ 4 โดยใช้วงเงิน 11.8 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมากองทุนอนุรักษ์ฯ มีการจัดสรรเงินให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่รวม 50 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี(มิ.ย.48-มิ.ย.53) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกพืชน้ำมันในภาคเหนือ เพื่อศึกษากระบวนการสกัดและแปรรูปไบโอดีเซลที่เหมาะกับชุมชน จัดทำศูนย์การเรียนรู้ ปลูกและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร
ด้าน นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการปิโตรเลียมขั้นต้น ปตท.กล่าวว่า แผนขยายสถานีบริการเอ็นจีวีล่าช้ากว่าจากเดิมเล็กน้อย โดยคาดว่าในสิ้นปีนี้จะเปิดได้ 321 แห่ง จากเดิมตั้งเป้าไว้ 355 แห่ง เนื่องจากการก่อสร้างล่าช้า ส่วนรถขนส่ง เอ็นจีวีสามารถเพิ่มได้ตามแผน 933 คัน
ส่วนการวางท่อส่งก๊าซเอ็นจีวี 3 เส้นทาง คือ สายเหนือ สายตะวันเฉียงเหนือ และสายใต้ ที่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 45,000-50,000 ล้านบาทนั้นอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าท่อก๊าซเส้นภาคเหนือจะก่อสร้างเสร็จก่อนในปี 2554-55 ตามด้วยท่อก๊าซเส้นตะวันออกเฉียงเหนือที่จะเสร็จในปี 55 ส่วนท่อเส้นภาคใต้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม