นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องซื้อคืนพันธบัตรที่ธปท.ได้ออกไปในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอ แต่ ธปท.ก็พร้อมจะพิจารณาลดการ Rollover พันธบัตรชุดเดิมในปี 52 ลง
"ขณะนี้สภาพคล่องในประเทศยังมีเพียงพอ ที่ผ่านมาค่าเงินมีความผันผวนช่วง 2-3 ปี จึงมีความจำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อดึงสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 1 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นการดำรงสถานะตามกฎหมายกำหนด แต่ขณะเดียวกันยังมีสภาพคล่องอีก 1 ล้านล้านบาทน่าจะเพียงพอต่อความต้องการ"ผู้ว่า ธปท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มองว่าความต้องการสินเชื่อก็ลดน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงด้วย โดย ณ สิ้นวันในแต่ละวันมีเงินไหลกลับเข้ามาผ่านการทำธุรกรรมอินเตอร์แบงก์ หรือการฝากเงินประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการสินเชื่อลดลง เพราะคนที่เคยคิดจะลงทุนก็อาจจะทบทวนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ผู้ว่าการ ธปท. ระบุอีกว่า เท่าที่ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ ยอมรับว่าขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หันไปปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการขนาดใหญ่มากกว่า เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่า ขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดกลาง และ SMEs ยังมีความกังวลอยู่
ดังนั้น หากมีเครื่องมือช่วยลดความเสี่ยงผ่านการค้ำประกันโดยภาครัฐก็จะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งสามารถดำเนินการผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่อยู่ระหว่างการควบรวมกิจการกัน
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงข้อสังเกตของรมว.คลังที่มองว่าแบงก์พาณิชย์นำเงินฝากจากประชาชนมาหากำไรจากดอกเบี้ยอาร์/พีที่อยู่ในระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่มีต้นทุนประมาณ 2% แทนที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อว่า ปัจจุบันต้นทุนการเงินของธนาคารพาณิชย์มีมากกว่า 2% โดยมีสัดส่วนต้นทุนเป็นเงินฝากประจำถึง 60% ของเงินฝากทั้งหมด และมีต้นทุนการบริหารจัดการรวมทั้งต้นทุนด้าน NPL อีก
ดังนั้น ถือว่าธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนไม่น้อย และเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์เองคงไม่สามารถหาผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อในตลาดอินเตอร์แบงก์หรือนำมาฝากเงินกับธปท.เพื่อหวังดอกเบี้ยอาร์/พีเป็นหลักได้ เพราะธนาคารพาณิชย์เองก็ต้องการทำรายได้จากการปล่อยสินเชื่อเป็นหลัก แต่หากมีความเสี่ยงก็อาจมีความเข้มงวดขึ้นบ้าง
สำหรับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan)ให้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำนั้น ผู้ว่า ธปท. กล่าวยืนยันว่า ได้มีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ธปท.ฉบับใหม่ พบว่ามีข้อจำกัดไม่สามารถให้ Soft Loan กับธนาคารพาณิชย์ได้อีก ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงพยายามหาทางออกในเรื่องนี้
"ในอดีตที่ ธปท.ให้ Soft Loan แต่อยู่ในวงจำกัด แต่ก.ม.ใหม่มีข้อจำกัด ดังนั้น หากมีกลไกสร้างความมั่นใจให้แบงก์พาณิชย์ ในการประกันสินเชื่อ ก็น่าจะนำไปใช้ในวงที่กว้างกว่าทั้งภาครัฐและเอกชน"ผู้ว่า ธปท.กล่าว