กสิกรไทยชี้ดอกเบี้ยโลกเป็นช่วงขาลง ลุ้นปีหน้าเห็นบางประเทศลดลงใกล้ 0%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 7, 2008 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 1% ในปัจจุบันเป็นระดับที่ต่ำมาก และจะสร้างข้อจำกัดให้กับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะถัดไปก็ตาม โดยประเมินว่า FED อาจยุติวัฏจักรขาลงของดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5-0.75%

ส่วน BoJ มีแนวโน้มที่จะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องนานกว่าที่เคยประเมินไว้ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ยังคงมีความยืดหยุ่นของนโยบายอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างมาก และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงช่วง Q1/52

ส่วนธนาคารกลางของประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่ต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะตลาดการเงินที่ไม่ปกติ เช่น ธนาคารกลางเกาหลีใต้ และธนาคารกลางอินเดีย อาจจำเป็นต้องเร่งสร้างความผ่อนคลายให้กับนโยบายการเงิน ในขณะที่ ประเทศเอเชียอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางไต้หวัน อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน

ทั้งนี้จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยมากและต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ที่ผ่านมาธนาคารกลางของหลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ/หรือยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.5% และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ลดดอกเบี้ย 1.5%

นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบฉุกเฉินตั้งแต่ ต.ค.-พ.ย.51 ของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางของหลายประเทศในเอเชีย นับเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED และ BoJ

"ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำหลายแห่งมีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง ขณะที่บางแห่งอาจลดอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่รุนแรง เป็นไปตามความจำเป็นเร่งด่วนของสภาพเศรษฐกิจแต่ละประเทศ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะนำไปสู่การปรับลดตำแหน่งงาน ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายของภาคเอกชน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของบางประเทศอาจทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% หรือใกล้ 0% ต่อเนื่องในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ ข่าวดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของประเทศต่างๆ อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้เพียงระดับหนึ่ง แต่แนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญของเศรษฐกิจแกนหลักของโลกหลายประเทศ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกใช้ความระมัดระวังในการซื้อ-ขาย และเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในตลาดเกิดใหม่

ดังนั้นภาวะความผันผวนของตลาดการเงินยังคงมีอยู่ และอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ ยังคงได้รับแรงหนุนในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัย ในขณะที่ทีมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ น่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาดการเงิน และต้องจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ระลอกที่ 2 ที่จะออกมาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ