กฟผ.แจงรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนตามมติ กพช.หลังมีผู้ค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 10, 2008 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ยืนยันการซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชนยังคงเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานที่โปร่งใส โดยมีคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเป็นผู้ดำเนินการร่างและกำหนดเงื่อนไขสัญญาฯ และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบตามขั้นตอนแล้ว

"ข้อเท็จจริงในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ผ่านมาเป็นไปตามนโยบายกระทรวงพลังงานที่ให้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ 4,400 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2555-2557" นายอภิชาต ดิลกโศภณ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนยื่นหนังสือเรียกร้องให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เนื่องจากเกรงว่าสัญญาไม่โปร่งใส

ทั้งนี้ มติ กพช.เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.50 และวันที่ 7 ธ.ค.50 มอบหมายให้คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้า(ไอพีพี) ที่ได้รับการคัดเลือก และมอบหมายให้ กฟผ. รับไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เป็นประธาน

รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.50 คณะอนุกรรมการฯ ได้คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน 2 ราย และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2 ราย ซึ่งขณะนี้ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้ว 3 ราย ได้แก่ บริษัท GHECO-One จำกัด จำนวน 660 เมกะวัตต์ ก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งได้รับความเห็นชอบต่อรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว(EIA Report) ไปเมื่อเดือน พ.ค.51

ส่วนรายที่ 2 และ 3 คือ บริษัท Siam Energy จำกัด 1,600 เมกะวัตต์ มีพื้นที่ก่อสร้างใน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และ บริษัท Power Generation Supply จำกัด 1,600 เมกะวัตต์ พื้นที่ก่อสร้างใน อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งได้ลงนามไปแล้วแต่สัญญาดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบต่อ EIA Report

และรายที่ 4 บริษัท National Power Supply จำกัด 540 เมกะวัตต์ มีพื้นที่ก่อสร้างใน จ.ฉะเชิงเทรา นั้นยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า การดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าเป็นไปตามมติ กพช.ที่มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ไปดำเนินการร่างและกำหนดเงื่อนไขสัญญาฯ ตลอดจนออกเอกสารประกอบสัญญาฯ และได้มีการส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ตรวจสอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้สามารถขอดูสัญญาฯ ดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พศ.2540


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ