ที่ประชุมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้กระทรวงการคลังปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ในวันที่ 20 พ.ย.นี้
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.เตรียมเสนอให้กระทรวงการคลังปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นระยะเวลา 1 ปีโดยมีผลทันที เพื่อช่วยให้แรงงานมีรายได้สำหรับการบริโภคมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมสินเชิ่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยให้รัฐนำเงินงบประมาณมาอุดหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงไปให้แก่ธนาคารที่ปล่อยกู้ โดยจะเสนอเข้าที่ประชุม กรอ.ในวันที่ 20 พ.ย.นี้
ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้งบประมาณขาดดุลเพิ่ม 1 แสนล้านบาทของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยโครงการที่จะออกมาต้องสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้เห็นผลเร็วในระยะ 6 เดือน-1 ปี และต้องช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนให้ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ กกร.จะติดตามความคืบหน้าของข้อเสนอที่มีก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องสิทธิทางภาษีจากการใช้ข้อตกลงเจเทปป้า การพิจารณาการออกซอฟท์โลนให้แก่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ค้าส่งค้าปลีก
ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องสภาพคล่องในปีหน้าที่อาจจะหดหายไปจากปัจจุบันที่มีอยู่ 3-4 แสนล้านบาท เนื่องจากจะมีเงินทุนไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งเอกชนจะหันมากู้เงินในประเทศมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรเข้ามาดูแล และเติมสภาพคล่องให้กับระบบด้วย เพราะขณะนี้เงินคงคลังยังมีเหลืออยู่จำนวนมาก
ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะต้องประชุมเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินทันที เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนประเทศแถบยุโรปและสหรัฐ
"ไทยเองก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามทิศทางของตลาดโลกได้ เพราะเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวลง ดังนั้นต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาการเจริญเติบโตของประเทศไว้ แต่จะปรับลดในอัตราเท่าใดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กนง." นายอภิศักดิ์ กล่าว