นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ที่ขอให้รัฐบาลปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะขอรับไว้พิจารณาก่อน แต่คงยังไม่ตัดสินใจในขณะนี้ เพราะต้องดูว่าข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณหรือมีหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้นเพียงใด โดยจะขอหารือรายละเอียดในเรื่องนี้กับ กกร.อีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน
รมว.คลัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้ศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบไว้แล้ว และพร้อมจะรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากภาคเอกชน ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวต้องพิจารณาด้วยว่าจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด เพราะรัฐบาลต้องดูเสถียรภาพการจัดเก็บรายได้ในระยะยาว รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเพื่อวางระบบภาษีให้เหมาะสม
ทั้งนี้สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณต่อไป และยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณไปนานอีกกี่ปี เพราะเป็นผลพวงมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกซึ่งหลายประเทศต่างใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณเช่นกัน
นายสุชาติ กล่าวว่า การขาดดุลงบประมาณต้องทำอยู่ในระดับที่เหมาะสม และหากเศรษฐกิจของประเทศสามารถขยายตัวได้มากขึ้น รัฐบาลจะทยอยลดการขาดดุลงบประมาณลงและเข้าสู่ระดับสมดุล จนเป็นงบประมาณแบบเกินดุลในที่สุด แต่เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลน้อยลง ดังนั้นแพ็คเก็จภาษีคงเป็นเรื่องระยะปานกลางหรือระยะยาวมากกว่า
"ในช่วงระยะสั้นต้องดูรายได้และรายจ่ายของรัฐบาลก่อนพิจารณาเรื่องภาษี ส่วนระยะปานกลางก็ดูความจำเป็นว่าจะต้องปรับขึ้นหรือลดภาษีใดบ้าง แต่ระยะยาวต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งหมด...แต่ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลจะไม่มีการปรับขึ้นภาษีใดๆ อย่างแน่นอน ส่วนการปรับลดภาษีกำลังพิจารณาอยู่" รมว.คลัง กล่าว พร้อมระบุว่า การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบนั้น รัฐบาลจะพิจารณาโดยคำนึงถึงความมั่นคง ตลอดจนเสถียรภาพการเงินและการคลัง