รมว.คลังเปิดนโยบาย 3 อ่อนกระตุ้นศก. "ดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ภาษีเงินได้"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 12, 2008 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ทางรอดเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก" ว่า จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบให้หดหาย รัฐบาลได้พยายามวางนโยบายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาภาคการเงินได้ขยายเวลาการค้ำประกันเงินฝากเป็น 3 ปี เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการฝากเงินและไม่แห่ถอนเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์

สำหรับนโยบายต่อไปที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่น คือการใช้นโยบาย 3 อ่อน ประกอบด้วย ดอกเบี้ยอ่อน เงินบาทอ่อน และอัตราภาษีอ่อน

รมว.คลัง กล่าวว่า นโยบายการให้ดอกเบี้ยอ่อนหรืออยู่ในระดับต่ำนั้น เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอาร์พีปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์ที่รับเงินฝากจากประชาชนโดยมีต้นทุนเพียง 2% นำเงินที่ระดมได้ไปฝากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่มีดอกเบี้ย 3.5% ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะกินส่วนต่าง และทำให้ไม่มีเงินไหลเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้นจึงเห็นว่าหากดอกเบี้ยอาร์พีต่ำกว่าดอกเบี้ยฝาก เงินจะไม่ไหลกลับไปที่ ธปท. แต่ธนาคารพาณิชย์จะหันมาปล่อยกู้ในระบบมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังจะประสานงานกับ ธปท.ต่อไป

นโยบายเงินบาทอ่อนค่า เพื่อช่วยผลักดันภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้การส่งออกในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 7.8 แสนล้านดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าลง 1 บาท/ดอลลาร์ จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ถึง 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่างบประมาณกลางปี 52 ที่รัฐบาลทำเพิ่มขึ้น และแม้การนำเข้าน้ำมันจะมีราคาสูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่า แต่คิดเป็นการเพิ่มขึ้นเพียง 10 สต.เท่านั้น หากมองภาพรวมการส่งออกแล้วเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า

"เรื่องดอกเบี้ย ต้นทุนแบงก์จริงๆ แล้วแค่ 2% กว่าเท่านั้น แต่เอาไปปล่อยในอาร์พีดอกเบี้ยสูง 3.75% แบงก์ก็กินส่วนต่างตรงนี้ไม่นำเงินมาปล่อยกู้ในระบบ แต่หากเศรษฐกิจรุ่งเรือง จีดีพีโต 10% ดอกเบี้ยอาร์พีควรสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก...ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าเพื่อช่วยการส่งออก ซึ่งบาทอ่อน 1บาท ทำให้เราขายของได้มากขึ้น 1 บาท แต่ซื้อของแพงขึ้นแค่ 10 สตางค์ หากดอกเบี้ยต่ำ ค่าเงินจะอ่อนค่าไปด้วย" รมว.คลัง กล่าว

สำหรับนโยบายภาษีอ่อน หรือการปรับลดอัตราภาษีนั้น ยอมรับว่าปีงบประมาณ 52 รัฐบาลอาจจัดเก็บรายได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.56 ล้านล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลตั้งงบขาดดุลเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท เป็นการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 3.5% ของจีดีพี จากเดิม 2.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ

ซึ่งข้อเสนอของเอกชนในการปรับลดภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยระยะยาวจะปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะปัจจุบันสิงคโปร์มีอัตราภาษีอยู่ที่ 20% ฮ่องกง 16% จะเห็นว่าประเทศที่เก็บอัตราภาษีต่ำจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศที่เก็บภาษีในอัตราสูง

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลยังมีแผนต้องใช้เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และใช้ดูแลเศรษฐกิจของประเทศ หากมีการปรับลดภาษีลงจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และอาจทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณมากเกินไป ซึ่งจะมีผลต่อเครดิตของประเทศและกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินได้ ดังนั้นจึงต้องชั่งน้ำหนักเรื่องนี้ให้รอบคอบ

"การปรับลดภาษี ทุกคนชอบ แต่ต้องดูเรื่องความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาวด้วย เพราะเรื่องเครดิตเป็นเรื่องสำคัญ จะกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลได้" นายสุชาติ ระบุ

รมว.คลัง ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจปี 52 จะเติบโตได้ราว 4% โดยที่รัฐบาลได้วางนโยบายเพื่อดูแลเรื่องค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย และการดูแลโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขณะที่การขาดดุลงบประมาณและการก่อหนี้ภาครัฐยังยึดที่ภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพีรัฐบาลไม่เกิน 36% แม้ตามกรอบของธนาคารโลกกำหนดไว้ถึง 50% ของจีดีพี ส่วนภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ในระดับไม่สูงราว 30%กว่าๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วมีหนี้สาธารณะเกิน 100% เช่น ญี่ปุ่น 120% ของจีดีพี อิตาลี 150% แต่ทั้งนี้เป็นเพราะประเทศเหล่านี้ที่มีเงินออมอยู่จำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ