นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดมาตรการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจที่เตรียมดำเนินการในปี 52 หลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณ 1,720 ล้านบาท จากงบกลางปีของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการเพิ่มเติม นอกเหนือจากโครงการที่จะดำเนินการภายใต้งบประมาณปกติเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้คาดว่าผลจากมาตรการที่จะดำเนินการนี้ จะช่วยให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทันที 24,300 ล้านบาท และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแบบทวีคูณอย่างต่อเนื่อง 3-4 รอบ ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นในระบบไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการสำคัญที่จะดำเนินการมี 3 ส่วน คือ การเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีก 6,600 ล้านบาท หรือ 0.1% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ 6.6 ล้านล้านบาท โดยจะมีงบประมาณในส่วนนี้ 370 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ, การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดด้านการค้า, การลงทุน, การท่องเที่ยว, การพัฒนาย่านการค้าในประเทศเพื่อการส่งออก เช่น ย่านโบ๊เบ๊ ใบหยก ประตูน้ำ เป็นแหล่งส่งออกเสื้อผ้า, ย่านวรจักร เป็นแหล่งส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ และย่านมเหสักข์ เป็นแหล่งส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ
การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีก 12,000 ล้านบาท หรือ 1% ของมูลค่าภาคเกษตร 1.2 ล้านล้านบาท โดยจะเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ 600 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาและเพิ่มคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร การส่งเสริมตลาดกลางชุมชน โดยเชื่อมโยงเกษตรกร ไปโรงงานแปรรูป และผู้ส่งออก การสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ และการส่งเสริมการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพื่อสร้างโอกาส
การกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ โดยตั้งเป้าให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 5,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.1% ของจีดีพีจังหวัดที่มีมูลค่า 5.386 ล้านล้านบาท โดยจะมีงบประมาณ 750 ล้านบาท ดำเนินการพัฒนาสมรรถนะธุรกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง สร้างพลังธุรกิจเพื่อการอยู่รอดให้กับธุรกิจไทย การพัฒนาย่านการค้าในภูมิภาคใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ การจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าและสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าจากโรงงาน การจับคู่ธุรกิจระหว่างจังหวัด และการจัดมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
"มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ทำเพิ่มเติมนี้ เป็นการทำงานต่อเนื่อง เพราะก่อนหน้านี้มีมาตรการรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้น ตั้งแต่สหรัฐฯ เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตซับไพร์ม ต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤตทางการเงิน ซึ่งรู้มาโดยตลอดว่าจะเกิดผลกระทบแน่ แต่กระทรวงพาณิชย์ก็พยายามหามาตรการรับมือ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน" นายไชยา กล่าว
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากมาตรการข้างต้นแล้ว ได้ขอให้เพิ่มมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าโอทอป อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และส่งเสริมธุรกิจบริการไทยไปต่างประเทศเป็นพิเศษ เช่น ครัวไทยสู่ครัวโลก และสปา ทั้งนี้ให้รวมถึงการผลักดันให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งทูตพาณิชย์จะต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและดำเนินการให้