นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐประกาศเปลี่ยนแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐมีมติผ่านร่างไปเมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจะไม่ใช้งบประมาณดังกล่าวเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงินที่มีปัญหาหรือหนี้เสียของสถาบันการเงินต่างๆในประเทศ แต่จะมุ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้บริโภค
พอลสันออกแถลงการณ์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลสหรัฐจะไม่ใช้เงินจำนวนดังกล่าวเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงินที่มีปัญหามูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ของสถาบันการเงินหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ติดจำนอง หรือถูกยึดมาจากผู้ซื้อที่ไม่สามารถผ่อนส่งต่อนั้น เพราะเห็นว่าขั้นตอนดังกล่าวต้องใช้เวลาในการดำเนินการมากเกินไป แต่รัฐบาลจะมุ่งเน้นใช้จ่ายงบประมาณเบื้องต้นมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ในการกระตุ้นสินเชื่อบุคคล รวมถึงซื้อหุ้นของธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคาร พร้อมกับเรียกร้องให้ธนาคารภายในประเทศกลับมาปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าตามปกติอีกครั้ง
ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังมีปัญหาทางการเงินอย่างหนักและต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือนั้น พอลสัน ระบุว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนจะจัดตั้งกองทุนเข้ามาจัดการกับสินทรัพย์ที่มีปัญหาของอุตสาหกรรมรถยนต์ (TARP) เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์สามารถหาทางออกในการแก้ไขวิกฤติทางการเงินของตัวเองได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีอัดฉีดเงิน
"อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ถือเป็นหนึ่งในเส้นเลือดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเราไม่เคยมองข้าม แต่เราพิจารณาแล้วเห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ยังมีทางออกในการแก้ไขวิกฤตการณ์การเงินโดยไม่ต้องพึ่งพาวิธีการอัดฉีดเม็ดเงิน ภาพที่เรามองเห็นชัดมากในเวลานี้ก็คือภาวะขาดสภาพคล่องในระบบส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมพุ่งสูงขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ เงินกู้เพื่อการศึกษาและบัตรเครดิต อย่างยากลำบาก ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เท่ากับไปเพิ่มภาระอันหนักหน่วงให้กับชาวอเมริกันและทำให้ตัวเลขการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจลดน้อยลงด้วย" พอลสันกล่าว
พอลสันกล่าวว่า เขาไม่รู้สึกกดดันและไม่รู้ว่ารัฐบาลทำในสิ่งที่ผิดที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแผนการใช้งบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยเขากล่าวว่า "ข้อเท็จจริงและสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และผมไม่คิดว่ารัฐบาลทำผิด"
ท่าทีล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่า ธุรกิจการธนาคารและธุรกิจในอีกหลายภาคส่วนของสหรัฐอาจเผชิญความเสี่ยงที่จะล้มละลาย ผิดกับในช่วงก่อนหน้านี้ที่ตลาดขานรับสภาคองเกรสที่ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินฉบับปรับปรุงใหม่วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียง 263 ต่อ 171 เสียง โดยร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงการเพิ่มค้ำประกันวงเงินฝากธนาคารที่ได้รับการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) จากเดิมที่ 100,000 ดอลลาร์ เป็น 250,000 ดอลลาร์ และจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในมาตรการลดหย่อนภาษีมูลค่า 1.49 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไป
ข่าวการเปลี่ยนแผนการใช้งบประมาณดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลง 411.30 จุด หรือ 4.73% ปิดที่ 8,282.66 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากข่าวดังกล่าวสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่หวังจะเห็นระบบการธนาคารของสหรัฐได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุด
นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดมีขึ้นหลังจากบารัค โอบามา ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธีบดีคนที่ 44 ของสหรัฐ ให้คำมั่นสัญญาว่า การให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็น "ภารกิจเร่งด่วน" ซึ่งรัฐบาลควรจัดหาเงินทุนให้อุตสาหกรรมดังกล่าวให้มากเท่าที่จำเป็น
การกลับลำไม่ใช้งบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์เข้ากู้วิกฤตการเงินของสถาบันการเงินภายในประเทศ ส่งผลให้เกิดเสียงคัดค้านตามมามากมาย โดยล่าสุดนายบาร์นีย์ แฟรงค์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอให้ความช่วยเหลือแก่บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม), ฟอร์ด มอเตอร์ และไครสเลอร์ มูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ กล่าวว่า "หากรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐ ก็อาจทำให้อุตสาหกรรมนี้ล้มละลายและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งจะยิ่งตอกย้ำสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก และผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการที่รมว.เฮนรี พอลสัน ตัดสินใจไม่ใช้งบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์เข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหาของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำนักข่าวเอพีรายงาน