นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK)ระบุว่า วิกฤตการเงินโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 52 ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงปัญหาการเมืองในประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่จะซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจ
ในปีหน้าไทยอาจไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกสินค้าไฮเทค ซึ่งเป็นเสาหลักได้ และสินค้าที่พึ่งพาตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรปมาก ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบทางตรงมาก เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์ อัญมณี และเครื่องประดับ ส่วนผลกระทบทางอ้อมต่อสินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ แผนวงจรไฟฟ้า ยางพารา รถยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ผลกระทบวิกฤติที่จะมีต่อผู้ส่งออกไทย คือ ปัญหาสภาพคล่องตึงตัว อำนาจซื้อของผู้นำเข้าลดลง ค่าเงินทั่วโลกมีความผันผวน
กลยุทธในการปรับตัวของผู้ส่งออกต้องมีการทำประกันการส่งออก ดูแลการผลิตให้มีความเหมาะสม บริหารจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ การให้เครดิตเทอมที่สั้นลง มีการคัดสรรผู้ซื้อ และติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ซื้อหรือตลาดปลายทางอย่างใกล้ชิด ทำการค้ากับตลาดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินน้อย แต่จะต้องไม่ทิ้งตลาดหลัก รวมถึงมีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ ภาครัฐเองยังมีศักยภาพที่จะช่วยในการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากนโยบาย 3 ด้าน คือ มาตรการด้านภาษี มาตรการด้านการเงิน และมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยช่องทางมาตรการทางภาษี คือ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคล รวมถึงการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการที่ใช้นโยบายลดเวลาทำงานแทนการเลิกจ้าง
ส่วนมาตรากรทางการเงิน มองว่ารัฐบาลยังมีช่องทางในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่สามารถจะปรับลดได้จากปัจจุบันที่ 3.75% รวมถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังสามารถบริหารจัดการได้อีก จากปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 34.93 บาท/ดอลลาร์ ด้านการส่งเสริมการลงทุน รัฐบาลควรเพิ่มประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ของการลงทุนให้มากขึ้น
พร้อมกันนั้น ยังสามารถช่วยเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อีกทางผ่านโครงการของรัฐบาล เช่น โครงการเมกะโปรเจ็คต์ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งรัฐบาลควรจะมีเงื่อนไขในการใช้ Local Content เพื่อให้เม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง รวมทั้งโครงการพัฒนาสาธารณูปโภค
"ภาครัฐอยู่ในฐานะที่จะทำมาตรการที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงหรือตกต่ำ ติดลบจนเกินไปได้ รัฐบาลมีทั้งฐานะและช่องทางที่จะทำได้ ภาครัฐมีฐานทางการเงินที่ดี ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นแสนล้าน ทำอะไรได้หลายเรื่อง ถ้าการเมืองเปิดโอกาสให้ภาครัฐทำ แต่ตอนนี้การเมืองไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ภาครัฐเท่าไหร่"นายณรงค์ชัย กล่าวในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ“วิกฤตโลก : เคราะห์ซ้ำเศรษฐกิจไทยและภาคส่งออกปี 2552?"
ส่วนการที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกไม่มากเท่ากับประเทศอื่น เป็นเพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ได้มีการอนุมัติมาตรการ หรือ นำเงินมาใช้ลงทุนมากนัก และต่อเนื่องถึงสถานการณ์เมืองในประเทศไทยเองส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนมีการบริโภคและการลงทุนอย่างระมัดระวังอยู่แล้ว
"ผลกระทบต่อภาคการเงินของเราน้อยมาก เพราะเราไม่ได้ใช้เงินทำอะไรมาหลายปี ปัญหาการเมืองในประเทศทำให้เราบริโภคและลงทุนอย่างระมัดระวัง การใช้จ่ายภาครัฐโดนล็อคทุกจุด จะใช้ทำอะไรก็โดนฟ้อง ตรงนี้อาจเป็นความโชคดีก็ได้"นายณรงค์ชัย กล่าว