ส.ส.สหรัฐ-กลุ่มนักลงทุนจี้ FED ชี้แจงนำเงินกองคลังร่วม $2 ล้านล้านปล่อยกู้ฉุกเฉินอุ้มสถาบันการเงิน

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 13, 2008 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐอย่างน้อย 5 คน พร้อมด้วยประชาชนผู้เสียภาษีและนักลงทุนชาวสหรัฐกว่า 300 คน กำลังเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชี้แจงรายละเอียดที่เฟดนำเงินจากกองคลังมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ไปปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กับบริษัทและสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา โดยระบุว่าต้องการให้เฟดเปิดเผยเกณฑ์การตัดสินใจที่ปล่อยวงเงินกู้ให้สถาบันการเงินเหล่านี้

วุฒิสมาชิกจอห์น คอร์นิน จากรัฐเท็กซัส กล่าวว่า "เราพบความไม่ชอบมาพากลและความไม่โปร่งใสในรัฐบาลและสถาบันการเงินของสหรัฐ บางทีปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้เป็นผลพวงมาจากการปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลบางอย่างที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องการเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้"

ขณะที่นายจอห์น โบห์เนอร์ สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกัน, นายเจ๊บ เฮนซาร์ลิน ส.ส.สังกัดพรรครีพับลิกัน, นายสก็อต การ์เร็ท ส.ส.จากรัฐนิวเจอร์ซี และนายวอลเตอร์ โจนส์ ส.ส.จากรัฐนอร์ธแคโรไลนา กำลังบีบให้นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดเปิดเผยรายละเอียดกรณีที่เฟดปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินให้สถาบันการเงินจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เบอร์นันเก้ ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐว่า การที่เฟดจัดหาเงินทุนมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับเจพีมอร์แกนเพื่อนำไปซื้อกิจการแบร์ สเติร์นส์นั้น มีเป้าหมายที่จะปกป้องแบร์ สเติร์นส์ไม่ให้ล้มละลาย และยับยั้งภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน

วันที่ 15 ก..ค. เฟดพร้อมด้วยกระทรวงการคลังสหรัฐ ตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการประกาศแผนพยุงกิจการบริษัทแฟนนี แม และ เฟรดดี แมค หลังจากทั้ง 2 บริษัทขาดทุนในตลาดปล่อยกู้จำนองจนเป็นเหตุให้ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

จากนั้นเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา เฟดตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินให้กับบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) มูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยออกแถลงการณ์ว่า "คณะกรรมการเฟดมีมติให้ปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินมูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับ AIG แลกเปลี่ยนกับการที่เฟดเข้าไปถือหุ้น 79.9% ตามกฎหมาย Section 13(3) of the Federal Reserve Act โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้ AIG คล่องตัวทางการเงินจนสามารถดำเนินการตามภาระผูกพันเมื่อถึงเวลากำหนด ซึ่งเงินกู้นี้มีเงื่อนไขชำระคืนภายในเวลา 24 เดือน โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรฐาน Libor ประเภทสามเดือนที่ 8.50%"

ต่อมาในวันที่ 27 ต.ค.กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศใช้งบประมาณงวดแรกมูลค่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์ ให้ความช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ 9 แห่งของสหรัฐ รวมถึงแบงค์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป, เจพีมอร์แกน,เวลส์ ฟาร์โก, แคปิตอล วัน ไฟแนนเชียล และซันทรัสต์ แบงค์ส สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ