(เพิ่มเติม1) ธปท.จะทบทวนคาดการณ์ GDP ปี 51-52 ใหม่ในธ.ค. เหตุสถานการณ์เปลี่ยนเร็ว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 13, 2008 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.จะมีการทบทวนคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของปี 51-52 ในการประชุมคณะกรรรมการการเงิน(กนง.)ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ธ.ค.นี้

เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกในปี 52 ลดลงเหลือ 2.2% ในเดือนต.ค. จากที่เคยคาดไว้ที่ 3% ขณะที่ราคาน้ำมันปรับลดลงจากสมมติฐานเดิม ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับปัจจุบัน ธปท.คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 51 ที่ 4.3-5.0% ส่วนในปี 52 คาดไว้ที่ 3.8-5.0%

นางสุชาดา กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องและยาวนานกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน ดังนั้น พระเอกที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็คือมาตรการด้านการคลังที่จะต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับปัญหาการว่างงานที่จะเกิดขึ้น

ส่วนการดำเนินนโยบายด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน ธปท.ไม่มีความหนักใจ และมีความพร้อมที่จะปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบทันทีหากเกิดปัญหาตึงตัวขึ้น ซึ่งธปท.พยายามจะรักษาสมดุลของระบบเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยจะพิจารณาความเสี่ยงในระยะปานกลาง ซึ่งอาจทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ เพราะทำล่าช้าไปบ้าง

ทั้งนี้การดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะพิจารณาจากความเหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง ซึ่งในอนาคตมีกฎหมายใหม่ที่ทั้ง ธปท.และกระทรวงการคลังจะต้องมีข้อกำหนดร่วมกันในเป้าหมายการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนก็เชื่อมั่นว่า กนง.จะพิจารณาความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยโดยพิจารณาจากเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อที่ได้ร่วมกันกำหนดขึ้น

"เมื่อมีกฎหมายใหม่ที่ต้องตกลงร่วมกันเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อระหว่าง กนง.กับกระทรวงคลัง ธปท.ก็จะดำเนินการไปตามนั้น เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เงินเฟ้อเกินเป้า การที่เงินเฟ้อลดลงก็มีผลให้ดอกเบี้ยลดลงตาม ไม่ใช่ ธปท.ยืนแข็งไม่ยอมลดดอกเบี้ย แต่แนวโน้มที่เงินเฟ้อลดลงแล้ว โอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลงก็มีมากขึ้น" นางสุชาดา ระบุ

ส่วนการดูแลค่าเงินนั้น จะต้องคำนึงถึงผลทั้ง 2 ด้าน เพราะการให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีกก็จะส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศให้สูงขึ้นด้วย รวมถึงราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนหนึ่งของการผลิต

แต่ขณะเดียวกันเงินบาทที่อ่อนค่าก็จะช่วยเพิ่มรายได้ของภาคการส่งออกเข้าสู่ประเทศได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า ธปท.จะดูแลให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่ไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเชิงขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

นางสุชาดา กล่าวว่า ในปีหน้าการส่งออกที่ชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาคการลงทุนและการจ้างงาน ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจก็จะสูงขึ้น จากที่ต้องหันมากู้เงินภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบลดลงบ้าง ในระยะสั้นเงินทุนต่างประเทศก็ยังน่าจะไหลออกสุทธิ แต่ยังอยู่ในระดับที่ธปท.รับได้ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้าจะเข้าใกล้สมดุลมากขึ้น จากที่เกินดุลในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่าเป็นห่วงภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่จะชะลอตัวจากผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีการจ้างงานต่อเนื่องค่อนข้างมาก แต่ในด้านฐานะของประเทศไทย ยังยืนยันความแข็งแกร่ง โดยไทยยังเป็นผู้ซื้อดอลลาร์ และมีทุนสำรองสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้ต่างประเทศระยะสั้นมีต่ำมาก

นางสุชาดา ยังกล่าวถึงข้อเสนอให้นำเงินทุนสำรองมาจัดตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติว่า ช่วงเวลาขณะนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เนื่องจากประเทศยังมีความจำเป็นต้องเตรียมสภาพคล่องไว้รับมือภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยง ขณะที่การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวในต่างประเทศ ก็ยังไม่สามารถเข้าไปลงทุนได้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ