คลังเปิดให้ยื่นขอออกบาทบอนด์ปีละ 4 ครั้ง ต้องดำเนินการภายใน 6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 13, 2008 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รมว.คลังเห็นชอบให้ปรับกำหนดการยื่นคำขออนุญาตและแนวทางในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของคำขออนุญาตออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศ โดยเปิดให้ยื่นคำขออนุญาตปีละ 4 ครั้ง คือ ในเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายนของทุกปี โดยผู้ขอจะต้องยื่นคำขอให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด และจะต้องออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ ผู้ที่ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทครบถ้วนตามวงเงินที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อนวันปิดให้ยื่นคำขออนุญาตในรอบถัดไป จะสามารถยื่นคำขออนุญาตใหม่ในรอบถัดไปได้ทันที แต่ในกรณีที่ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทไปแล้วบางส่วนแต่ยังไม่ครบถ้วนตามวงเงินที่ได้รับอนุญาต จะยื่นคำขออนุญาตใหม่ได้ในรอบท้ายสุดก่อนระยะเวลาในการอนุญาตรอบเดิมจะสิ้นสุดลง

ส่วนผู้ที่ไม่ดำเนินการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทภายในกำหนดระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจะมีสิทธิยื่นคำขออนุญาตในรอบถัดไปได้หลังจากระยะเวลาในการอนุญาตรอบเดิมของตนสิ้นสุดลง และผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตในแต่ละรอบหากมีความประสงค์ขออนุญาตในรอบถัดไปให้ยื่นเพียงหนังสือแสดงความจำนงและข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือข้อมูลเพิ่มเติมโดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตใหม่

สำหรับการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของคำขอในกรณีที่วงเงินรวมของคำขออนุญาตมากกว่ากรอบวงเงินที่จะจัดสรรให้นิติบุคคลต่างประเทศออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทจะจัดลำดับความสำคัญของคำขอโดยพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือ, ลักษณะองค์กร และภาคเศรษฐกิจ,การออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทได้จริงตามที่ได้รับอนุญาต,ความสัมพันธ์กับประเทศไทย และ อื่นๆ เช่น เป็นประเทศในกลุ่ม ASEAN+3 การใช้เป็นเงินบาท และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

เนื่องจากการพิจารณาอนุญาตจะพิจารณาจากข้อมูลที่มี ณ ขณะที่ยื่นขออนุญาต ดังนั้นกระทรวงการคลังขอสงวนสิทธิในการระงับการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทยในกรณีที่สถานภาพ สถานะการเงิน หรือการอื่นใดที่เกี่ยวข้องของผู้ได้รับอนุญาตมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ