(เพิ่มเติม) หอการค้าไทย ประเมิน GDP ปี 52 กรณีเลวร้ายสุดยังโตได้ 2.9-3.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 13, 2008 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 52 ยังน่าจะเติบโตได้บ้าง แม้จะประเมินในแง่เลวร้ายสุดที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างมาก โดยประเทศหลักๆ อย่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายสุด คาดว่า ผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP)ของไทยยังจะขยายตัว 2.9-3.1% การส่งออกจะเติบโต 0-0.2% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.0-2.5% มีผู้ว่างงาน 7.6-9.0 แสนคน หรือมีอัตราว่างงานที่ 2.0-2.3% จากปี 51 มีผู้ว่างงานราว 5 แสนคน

ส่วนกรณีระดับปกติ คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไม่มากนัก และการเมืองในประเทศเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ก็น่าจะทำให้ GDP เติบโตได้ถึง 3.9-4.1% การส่งออกขยายตัว 8-10% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.0-4.0% มีผู้ว่างงาน 6.0-7.5 แสนคน หรืออัตราว่างงานอยู่ที่ 1.6-1.9%

"ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นปัจจัยบวก แต่สนับสนุนให้รัฐบาลใช้งบขาดดุล 100,000 ล้านบาทอย่างรวดเร็ว และเห็นด้วยที่จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เบิกจ่ายได้ภายในเดือน ก.พ.ปีหน้า เพราะยิ่งเบิกจ่ายช้าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจลดลงได้อีก ส่วนทั้ง 2 กรณี หากใช้เหตุการณ์ปัจจุบัน กรณีปกติเป็นไปได้มากสุด แต่หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ กรณี 2 มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน" นายประมนต์ กล่าว

อย่างไรก็ดี วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งเอกชนกับเอกชน และเอกชนกับรัฐบาล ซึ่งหอการค้าไทยสนับสนุนการใช้งบขาดดุล 100,000 ล้านบาทของรัฐบาล โดยต้องให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และเห็นผลได้ใน 6 เดือน และนำเงินส่วนหนึ่งมาเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดึงเศรษฐกิจขึ้นมาได้

นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีปกติมองโลกแง่ดีเกินไป ปีหน้าเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในกรณีเลวร้ายโดยขยายตัวต่ำกว่า 3% การส่งออกไม่ขยายตัว เพราะขณะนี้หลายอุตสาหกรรมประสบปัญหาการขอยืดเวลาชำระเงินค่าสินค้า ทำให้ขาดสภาพคล่อง ซึ่งเมื่อผู้ผลิตต้นน้ำมีปัญหา ก็จะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือปลายน้ำกระทบด้วย

ทั้งนี้ เชื่อว่าการส่งออกไทยจะชะลอตัวตั้งแต่เดือน ต.ค.ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ส่วนปัญหาว่างงานน่าจะไม่เลวร้าย หากผู้ประกอบการประคองสถานการณ์ด้วยการลดเงินเดือน หรือลดโบนัส อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐผลักดันแรงงานต่างด้าวออกจากไทยโดยเร็ว แล้วจัดหาแรงงานไทยทดแทน ซึ่งจะช่วยไม่ให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นได้

"ปีหน้าเศรษฐกิจไทยเผาจริงแน่ ดังนั้นต้องแก้ปัญหาตัวแปรที่ควบคุมได้ก่อน โดยเฉพาะปัญหาการเมือง ส่วนวิกฤตโลกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นวิกฤตเศรษฐกิจที่ไทยต้องเผชิญในครั้งนี้ อาจใช้เวลามากกว่า 3 ปีแก้ปัญหา เพราะคนที่มีอำนาจแก้ปัญหายังมองไม่ออกว่าจะแก้จุดใดบ้าง และยังเกิดความขัดแย้งในประเทศ แต่หากคนไทยร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตเหมือนในปี 2540 ที่ใช้เวลาฟื้นเศรษฐกิจเพียง 3 ปี เชื่อว่าครั้งนี้ไทยจะสามารถกู้วิกฤตได้เร็ว" นายดุสิต กล่าว

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ธุรกิจ อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจในมุมมองหอการค้า ซึ่งสำรวจความเห็นนักธุรกิจ 800 ตัวอย่าง วันที่ 3-11 พ.ย.51 ว่า ผู้ตอบ 49.1% ระบุว่าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอย่างมาก อีก 34.5% ระบุปานกลาง ส่วนน้อยสุดมีเพียง 3.6%

ปีหน้าปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโดยตรงมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ เศรษฐกิจไทยชะลอตัว, สถานการณ์ทางการเมือง, เศรษฐกิจโลกชะลอตัว, วิกฤติการเงินโลก และความเชื่อมั่น ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้ยอดขาย ผลประกอบการ สภาพคล่องทางธุรกิจ การจ้างงาน การส่งออก และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงจะมีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น

"หากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข อุตสาหกรรมที่จะมียอดขายลดลงมากที่สุด เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็ก ยางและผลิตภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องประดับ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนัง/รองเท้า อุตสาหกรรมที่การส่งออกลดลงมากที่สุด เช่น เครื่องประดับ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องหนัง/รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมที่จะปลดคนงานที่สุดคือ อสังหาริมทรัพย์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ยังยืนยันว่าจะยังไม่มีการปลดคนงาน หรือหากจะปลดก็ในอัตราน้อยที่สุด" นางเสาวณีย์กล่าว

ส่วนปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข 5 ลำดับแรก คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง, ภาวะเศรษฐกิจถดถอย, อัตราดอกเบี้ย, ราคาน้ำมัน และความเชื่อมั่น แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดูแลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ คือ ลดต้นทุนการผลิต เช่น ลดภาษี ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ให้ค่าเงินบาททรงตัวอ่อนค่าอย่างมีเสถียรภาพ เสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงินในประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ 30.8% เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 51 จะขยายตัว 3.01-3.50% และต่ำกว่า 3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ