(เพิ่มเติม) SCB คาดศก.ไทยปี 52 โตเหลือ 2-3% จากผลกระทบวิกฤติโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 13, 2008 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 จะขยายตัวลดลงเหลือ 2-3% จากผลกระทบวิกฤติการเงินโลก โดยมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยจะเป็นความเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายนอกและสภาพคล่องเป็นหลัก

ขณะที่อัตราดอกเบี้นนโยบายจะมีการปรับลดลง 0.25%ในช่วงเดือน ธ.ค.มาอยู่ที่ 3.5% จากนั้นจะมีการปรับลดลงมาที่ 2.75-3.00% ในช่วงไตรมาส 2/52 ซึ่งจะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงบ้าง แต่ไม่มากนัก

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ SCB กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงินไทยปี 2552"ว่า วิกฤติภาคการเงินขณะนี้แตกต่างจากวิกฤติการเงินปี 40 เนื่องจากขณะนี้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยดีกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลเฉลี่ยปีละ 1% หรือเกินดุล 1.1% ของจีดีพี แต่ปี 40 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลถึง 7.4%ต่อจีดีพี ภาระหนี้ต่างประเทศปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ และมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงมาก

ส่วนระบบธนาคารพาณิชย์ มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งกว่าปี 40 มาก โดยปี 51สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 105.1% และ NPL อยู่ที่ 6.5% ขณะที่ปี 40 สินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 134.5% และ NPL สูงถึง 52%

และจากวิกฤติการเงินในสหรัฐ ที่ลุกลามไปถึงยุโรป และญี่ปุ่น และกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อไทยในระยะต่อไปอย่างแน่นอน โดยตลาดเงินของไทยจะเกิดภาวะตึงตัวขึ้นในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า หลังจากตลาดต่างประเทศปิด ทำให้ภาคเอกชนที่เคยระดมเงินในต่างประเทศ ต้องหันมากู้ในประเทศแทน

ขณะที่รัฐบาลเองมีแผนกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งน่าเป็นห่วงผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่อาจมีปัญหาการระดมเงินในประเทศ และอาจทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น แม้ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงก็ตาม

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะ 1-2 เดือนนี้ โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทยที่พึ่งพิงตลาดกลุ่มประเทศ G-3 ที่มีสัดส่วนส่งออกถึง 35%ของตลาดส่งออกทั้งหมด ขณะที่ยอดนักท่องเที่ยวช่วง Q4/51 และปี 52 จะลดลง รายได้ด้านท่องเที่ยวก็จะลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร จากความต้องการใช้ในภาคการผลิตจริงชะลอลง และการเก็งกำไรมีน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลงตาม

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 ยังคงขยายตัวได้ในอัตราชะลอลง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2-3% โดยรัฐบาลต้องเร่งการลงทุนเมกะโปรเจ็คต์ และเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้านนายณัฐวุฒิ สัจจพุทธวงค์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มบริหารการเงิน SCB กล่าวว่า ผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนจากวิกฤติการเงินโลกนั้น เชื่อว่าเงินดอลลาร์ยังปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากเงินทุนไหลกลับสหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่อง และการเรียกคืนเงินกู้ ดังนั้น เงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์ จะยังอ่อนค่าต่อเนื่องและมีความผันผวนสูงขึ้น โดยเงินบาท ธ.ค. คาดว่าจะอยู่ที่ 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ และ มี.ค.52 จะอยู่ที่ 34.00-35.00 บาท/ดอลลาร์ แต่การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้เคลื่อนไหวจากปัจจัยพื้นฐานทางศก.ที่แท้จริง ดังนั้นผู้ลงทุนต้องปิดความเสี่ยงด้วย

"ดอลลาร์แข็งค่าไม่ได้มาจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง และยังแข็งค่าได้อีกระยะ แต่เชื่อว่าในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า ดอลลาร์ จะกลับมาอ่อนค่า หลังจากที่สหรัฐยังต้องการเงินกู้จำนวนมหาศาลเพื่อดูแลเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าดอลลาร์จะเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจหรือไม่" นายณัฐวุฒิ กล่าว

ส่วนอัตราดอกเบี้ย ธปท.มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค.นี้ จากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว และเงินเฟ้อปรับลดลง แต่จะไม่เห็น ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยลงคราวละ 0.5-0.75% เหมือนการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากไทยไม่ได้ประสบวิกฤติหรือมีปัญหาสภาพคล่อง ดังนั้น เชื่อว่า ธปท.จะทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเหลือ 3% ในช่วง ปลายไตรมาส 1/52 ถึงต้นไตรมาส 2/52 จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.75%

และการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย อาจทำให้ดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งเงินกู้และเงินฝากปรับลดลงตาม แต่คงลดลงไม่มาก เนื่องจากสภาพคล่องมีแนวโน้มลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี จะปรับลดลงตามดอกเบี้ยนโยบาย แต่พันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีขึ้นไป อัตราผลตอบแทนจะไม่ลดลง เนื่องจากยังมีความต้องการในตลาด โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะออกหุ้นกู้ระดมเงิน หรือการกู้เงินของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม นายวิรไท กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาคเอกชนต้องเตรียมรับมือกับภาวะผันผวนจากวิกฤติการเงินปัจจุบัน โดยต้องเข้าใจสาเหตุและที่มาของปัญหา หลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในตลาดการเงิน และสินค้าโภคภัณฑ์ ดำเนินธุรกิจโดยความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น เน้นกระจายความเสี่ยง บริหารความเสี่ยง และประกันความเสี่ยง และบริการจัดการสภาพคล่องให้ดีที่สนุด โดยเพิ่มระดับเงินสดคงเหลือให้มาก และจัดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้เหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ