ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เล็งเห็นความจำเป็นในการเร่งแผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 เพื่อรองรับในกรณีที่จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจนเกินขีดความสามารถในการรองรับในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยหากประมาณการจำนวนผู้โดยสารตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป โดยใช้สมมติฐานจากค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 พบว่า จำนวนผู้โดยสารจะสูงกว่าศักยภาพที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับได้ที่ 45 ล้านคน/ปี ภายในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่การก่อสร้างเฟส 2 ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอาจเผชิญปัญหาความแออัดของจำนวนผู้โดยสารได้ หรือแม้จำนวนผู้โดยสารที่คาดการณ์ไว้อาจต่ำกว่าสมมติฐานข้างต้นไปบ้าง แต่ในที่สุดแล้วมีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเกินศักยภาพที่รองรับได้ก่อนปี 2557
แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารในปีนี้ อาจยังไม่ถึงขีดจำกัดในการรองรับการใช้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องเร่งก่อสร้าง รองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจำนวนผู้โดยสารปี 51 จะอยู่ที่ 40.4-41.2 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 0-2% ส่วนปี 52 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 38.8-40.4 ล้านคน ลดลง 2-4% ตามทิศทางการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการปรับเส้นทางการบินตรงของเที่ยวบินระหว่างประเทศ
อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบศักยภาพการรองรับผู้โดยสารระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับท่าอากาศยานสิงคโปร์ จะเห็นได้ว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ต่ำกว่า ทั้งที่จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจำนวนสูงกว่า จึงควรพัฒนาและปรับปรุงขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สูงขึ้นและเพียงพอต่อความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ หากต้องการที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคก็ควรต้องวางแผนกลยุทธ์ในระยะยาวเพื่อพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในอีกหลายด้าน เช่น โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนและโลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร การบริหารจัดการภายในท่าอากาศยาน การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น
ล่าสุด รมว.คมนาคมออกมาประกาศจะผลักดันแผนการขยายเฟส 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 77,886 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการก่อสร้างสำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite-1) เป็นต้น จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 45 ล้านคน/ปี มาเป็นประมาณ 60 ล้านคน/ปี โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างประมาณ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2557 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้จนถึงปี 2561