รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ชี้ว่า ในปี 52 เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ธนาคารโลก(World Bank)คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 52 จะขยายตัวเพียง 1% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดว่าจะอยู่ที่ 2.2%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ได้แก่ สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ล้วนประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 52 และมีผลถึงการลงทุนภาคเอกชนและการจ้างงานของไทยในปี 52 ให้ชะลอตัวลง
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา(ม.ค.-ก.ย.51) ยังขยายตัวในระดับพอใจที่ 5-5.3% แม้ปัจจัยภายนอกไม่เอื้ออำนวยมากนัก จากปัญหาวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเศรษฐกิจไทยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวสูงถึง 25% และรายได้ภาคเกษตรซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วงไตรมาส 3 รายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้น 57%
นอกจากนี้ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง และช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศให้ผ่อนคลายลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 51 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ลดลงชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.ที่สูงถึง 9.2% และเฉลี่ย 10 เดือนแรก เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 6.3%
ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน 9 เดือนปี 51 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.6% โดยในเดือน ก.ย.51 การบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.7% แต่เครื่องชี้การลงทุนหลายตัวยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยอดขายปูนซีเมนต์ ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิตของอุตสาหกรรม มีแนวโน้มลดลง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 7.7% ลดลงครึ่งปีแรกที่เพิ่มขึ้น 11.4%
ด้านเสถียรภาพต่างประเทศใน 9 เดือนแรกปี 51 อยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าการส่งออกสูงถึง 134.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 25% มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นเป็น 135.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 34.5% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1 พันล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 788 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากรายได้ภาคจากการท่องเที่ยวลดลง แต่มีการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น