ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบปอนด์,เยน หลังสหรัฐเผยยอดค้าปลีกร่วงหนัก

ข่าวต่างประเทศ Saturday November 15, 2008 07:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินปอนด์และเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 พ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ร่วงลงอย่างหนัก นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่การประชุมกลุ่ม G20 จะมีขึ้นที่กรุงวอชิงตันในวันเสาร์นี้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับ 97.490 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 97.580 เยน/ดอลลาร์ แต่ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1886 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1864 ฟรังค์/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.2725 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.2828 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.4876 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.4863 ดอลลาร์/ปอนด์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.5615 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.5745 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.6585 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.6659 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันอย่างหนัก หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ร่วงลง 2.8% ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลงในช่วงที่วิกฤตการณ์การเงินลุกลามไปทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ"

นักลงทุนจับตาดูการประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจโลก หรือ G20 ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงวอชิงตันในวันเสาร์นี้ โดยคาดว่าที่ประชุมจะเห็นชอบให้ใช้มาตรการเฉพาะเจาะจงในการรับมือกับภาวะผันผวนในตลาดการเงินและยับยั้งเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังจากเศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการณ์การเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ Great Depression

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ในวันนี้ว่า ในการประชุม G20 ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทาโร อาโสะ จะสนับสนุนเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

นอกเหนือจากการสนับสนุนเงินแก่ไอเอ็มเอฟแล้ว นายกรัฐมนตรีอาโสะจะเรียกร้องให้ธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน เพื่อกระตุ้นกลไกการกู้ยืมในรูปสกุลเงินดอลลาร์ โดยนายกฯอาโสะยอมรับว่าสกุลเงินดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินหลักในระบบเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ