นักวิเคราะห์คาดที่ประชุม G20 อาจมีมติใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก-สกัดเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวต่างประเทศ Saturday November 15, 2008 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งประชุมกันที่กรุงวอชิงตันวันนี้ อาจตกลงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก พร้อมกับใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูตลาดการเงิน ขณะที่ล่าสุดมีรายงานว่า รมว.คลังของญี่ปุ่น, จีนและเกาหลีใต้กำลังพิจารณาเรื่องการขยายขอบข่ายการทำข้อตกลงสว็อปสกุลเงินระหว่างกัน

โทนี เครเซนซี หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Miller Tabak & Co ที่กรุงนิวยอร์กกล่าวว่า "ผู้นำกลุ่ม G20 มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการสกัดกั้นไม่ให้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอย ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณรายจ่ายและให้เงินทุนสนับสนุนพิเศษแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)"

กลุ่มประเทศ G20 ซึ่งประกอบไปด้วย อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอฟริกาใต้, ตุรกี, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และสหภาพยุโรป (อียู) มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 90% ของ GDP ทั่วโลก ได้ตกลงที่จะเข้าประชุมร่วมกันในวันเสาร์นี้ที่กรุงวอชิงตัน หลังจากเศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการณ์การเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ Great Depression และมีแผนที่จะหาแนวทางรับมือเพื่อยับยั้งไม่ให้เศรษฐกิจโลกถดถอย

ที่ประชุม G20 มีแนวโน้มที่จะหารือกันเรื่องการเรียกร้องให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือดำเนินการจัดอันดับเครดิตให้มีมาตรฐานสูงขึ้น โดยอาศัยข้อมูลตามความเป็นจริง หลังจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศรายใหญ่ อาทิ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ ถูกวุฒิสภาสหรัฐโจมตีว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนและปิดบังสถานะที่แท้จริงของบริษัทปล่อยกู้จำนอง จนเป็นเหตุให้กิดภาวะผันผวนในตลาดปล่อยกู้จำนองและสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนทั่วโลก อีกทั้งไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงของตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) ซึ่งตราสารหนี้เหล่านี้มีมูลค่าถดถอยลงเนื่องจากจำนวนบริษัทปล่อยกู้จำนองที่ประสบปัญหามีมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่ขาดความน่าเชื่อถือ (ซับไพรม์)

นอกจากนี้มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีทาโร อาโสะ จะสนับสนุนเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ที่กรุงวอชิงตันวันเสาร์นี้ เพื่อปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

นอกเหนือจากการสนับสนุนเงินแก่ไอเอ็มเอฟแล้ว นายกรัฐมนตรีอาโสะจะเรียกร้องให้ธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน เพื่อกระตุ้นกลไกการกู้ยืมในรูปสกุลเงินดอลลาร์ โดยนายกฯอาโสะยอมรับว่าสกุลเงินดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินหลักในระบบเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ นายอาโสะจะเรียกร้องให้มีการปฏิรูปไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก รวมถึงการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกไอเอ็มเอฟเพิ่มทุนสนับสนุนให้กับไอเอ็มเอฟเพื่อปล่อยกู้ให้กับประเทศที่ประสบปัญหา ซึ่งญี่ปุ่นเองก็จะสนับสนุนเงินให้กับไอเอ็มเอฟเป็นวงเงินสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ในการประชุมครั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ