กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ทางกระทรวงได้อัดฉีดเงินให้แก่ธนาคาร 21 แห่ง เป็นเงินทั้งสิ้น 3.35 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นความพยายามหนึ่งในการฟื้นฟูระบบการเงินสหรัฐที่อ่อนแอให้กลับคืนสู่สภาพปกติ
การอัดฉีดเงินดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาภายใต้แผนกู้วิกฤตการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่สภาคองเกรสได้อนุมัติเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นรอบสองที่รัฐบาลสหรัฐได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ธนาคารต่างๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐได้ใช้เงินงวดแรกภายใต้แผนดังกล่าว ซื้อหุ้น 1.25 แสนล้านดอลลาร์ในธนาคารใหญ่ 9 แห่งของประเทศ โดยเจพีมอร์แกน เชส, ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก ได้รับเงินอัดฉีดจากรัฐบาลรายละ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนแบงก์ ออฟ อเมริกา ได้รับเงิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ขณะที่ โกลด์แมน แซคส์, เมอร์ริล ลินช์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ได้รับเงินรายละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน และสเตท สตรีท ได้รับ 3 พันล้าน และ 2 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
สำหรับในงวดที่สองนี้ ธนาคาร ยูเอส แบนคอร์ป ในเมืองมินนีอาโพลิส รัฐมินนีโซต้า ได้รับเงินมากที่สุด 6.60 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยแคปิตอล วัน ไฟแนนเชียล คอร์ป ในเมืองแมคลีน รัฐเวอร์จิเนีย ที่ 3.56 พันล้านดอลลาร์ ส่วน ซันทรัสต์ แบงก์ ในแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย และ รีเจียนส์ ไฟแนนเชียล คอร์ป ในเบอร์มิงแฮม รัฐอลาบาม่า ได้รับเงินอัดฉีดรายละ 3.5 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐยังเผยด้วยว่า ทางกระทรวงจะขยายขอบเขตของแผนการปรับโครงสร้างเงินทุนให้ครอบคลุมธนาคารที่ไม่ได้จดทะเบียนและสถาบันออมทรัพย์ต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐได้ประกาศอัดฉีดเงินมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ที่กำลังประสบปัญหา และเตรียมพร้อมที่จะขยายความช่วยเหลือไปยังบริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค สำนักข่าวเกียวโดรายงาน