รมว.คลังญี่ปุ่นเล็งใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อยับยั้งเศรษฐกิจจากภาวะถดถอย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 18, 2008 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โชอิจิ นาคากาว่า รมว.คลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจพิจารณาใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย โดยระบุว่า หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5 ล้านล้านเยน หรือ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งประกาศไปเมื่อเดือนที่แล้วใช้ไม่ได้ผล รัฐบาลญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะใช้มาตรการที่แข็งแกร่งกว่า และมุ่งเน้นที่จะผลักดันให้แผนการที่ประกาศใช้ไปเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา สำเร็จเป็นรูปธรรม

"สถานการณ์โลกในขณะนี้บีบให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องหาทางผลักดันเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะถดถอย และการที่แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ประกาศใช้เมื่อเดือนส.ค.ยังไม่เกิดผลก็เพราะเกิดความยุ่งยากทางการเมือง" นาคากาว่ากล่าว

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นหดตัวลง 0.4% ต่อปี ซึ่งรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.1% และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากภาคเอกชนและภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายลง

"ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ระยะถดถอยแล้ว และในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงเช่นนี้ คงเป็นเรื่องยากที่ญี่ปุ่นจะพึ่งพารายได้จากการส่งออกได้เหมือนเดิม สิ่งที่เราควรจะทำในเวลานี้คือหันมากระตุ้นตัวเลขการใช้จ่ายภายในประเทศและรักษาอัตราการอุปโภคและบริโภคให้มีเสถียรภาพ" นาคากาว่ากล่าว

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งมีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติร่วมมือกันกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวขึ้นและปกป้องเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย พร้อมกับเสนอให้ใช้มาตรการแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านการเงินที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก

นอกจากนี้ กลุ่ม G20 เสนอให้ประเทศทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ รวมทั้งกำหนดแผนการควบคุมและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญทั่วโลก ศึกษาข้อจำกัดในการจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่ธนาคาร และพยายามผลักดันให้มีการบรรลุข้อตกลงการเจรจาการค้าโลกภายในสิ้นปีนี้ อีกทั้งเรียกร้องให้มีการเพิ่มทุนสำหรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อสนับสนุนประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ทบทวนมาตรฐานด้านการบัญชี ทบทวนการจ่ายเงินเดือนซีอีโอ ทบทวนกฎเกณฑ์การล้มละลาย และทบทวนกฎข้อบังคับของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ