ริค วาโกเนอร์ ซีอีโอบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะตกต่ำจนถึงกับล่มสลาย หากรัฐบาลสหรัฐปล่อยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศล้มละลาย ขณะที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้สภาคองเกรสออกมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์
ผู้บริหารจากค่ายรถยนต์กลุ่ม "บิ๊กทรี" ซึ่งได้แก่ ริค วาโกเนอร์ ซีอีโอจีเอ็ม, อลัน มูลัลลี ซีอีโอฟอร์ด มอเตอร์ และโรเบิร์ต นาร์เดลลี ซีอีโอไครส์เลอร์ ได้เข้าชี้แจงต่อนายคริสโตเฟอร์ ด็อด ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งสภาคองเกรส เพื่อเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติแผนปล่อยเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์
"หากรัฐบาลปล่อยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ล้มละลาย ก็จะมีคนตกงานกว่า 3 ล้านคนภายในปีแรก จากนั้นรายได้ส่วนบุคคลจะร่วงลงอย่างน้อย 1.50 แสนล้านดอลลาร์ และรัฐบาลจะต้องสูญรายได้จากภาษีถึง 1.56 แสนล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 3 ปี สถานการณ์ดังกล่าวจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยรุนแรงกว่าที่คาดคิด และมูลค่าความเสียหายจะมากกว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลควรจะนำมาช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ ผมกล้าพูดว่า หากรัฐบาลยื่นมือช่วยเหลือเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในดีทรอยท์รอดตายเท่านั้น แต่ยังโอบอุ้มระบบเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะล่มสลายด้วย" วาโกเนอร์กล่าวกับวุฒิสภา
สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรคเดโมแครตเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐจัดสรรเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ออกมาช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกันออกมาคัดค้านอย่างสุดตัว และเสนอให้ใช้งบประมาณที่สภาคองเกรสอนุมัติไป 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์แทน
เฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐชี้แจงว่า การที่รัฐบาลสหรัฐไม่มีแผนจะจัดตั้งกองทุนเข้ามาจัดการกับสินทรัพย์ที่มีปัญหาของอุตสาหกรรมรถยนต์ (TARP) เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์สามารถหาทางออกในการแก้ไขวิกฤติทางการเงินของตัวเองได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีอัดฉีดเงิน
ทั้งนี้ วาโกเกอร์ระบุว่า จีเอ็มต้องการเงินทุน 1-1.2 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อช่วยพยุงกิจการจีเอ็มให้อยู่รอดต่อไปได้ ขณะที่มุลลัลลีกล่าวว่า ฟอร์ดจำเป็นต้องระดมทุน 7-8 พันล้านดอลลาร์ และไครส์เลอร์ต้องการระดมทุน 7 พันล้านดอลลาร์
ภายหลังจากรับฟังคำชี้แจงของซีอีโอจากค่ายรถยนต์กลุ่มบิ๊กทรีแล้ว นายด็อด ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งสภาคองเกรสกล่าวว่า "ผมสนับสนุนแผนการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ไม่ใช่เพราะว่าพวกท่านโน้มน้าวว่าการไม่ให้ความช่วยเหลือจะทำให้รัฐขาดรายได้จากภาษี แต่ที่เห็นว่าควรช่วยก็เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าแผนการให้ความช่วยเหลือจะได้รับการอนุมัติภายใน 2-3 วันข้างหน้านี้"
ก่อนหน้านี้ บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวว่า "รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ แรงงาน และสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ฟื้นตัวขึ้นอย่างยั่งยืน โดยแนะนำให้ช่วยเหลือในรูปของการให้เงินกู้ยืมเฉพาะกาล (Bridge Loan) เพราะปล่อยให้ปัญหาในอุตสาหกรรมรถยนต์เรื้อรังต่อไป ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างจีเอ็มคงไม่รอดพ้นที่จะประสบภาวะล้มละลาย" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน