เอแบคโพล เผยผลสำรวจ ความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "สัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจ กรณีศึกษาสภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของประเทศ " ว่า แนวโน้มของรายได้และรายจ่ายของครอบครัวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาก่อนการสำรวจ พบว่า ความเห็นประชาชน 51.8 % รายได้ของครอบครัวลดลง 41.7% รายได้เท่าเดิม และ 6.5% รายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้น ขณะที่หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่ 61.6% ระบุรายจ่ายของครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น 26.2% ระบุเท่าเดิม และ 12.2% ระบุรายจ่ายลดลง
ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ 74.8% มองว่า แนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แย่ลง 23.2% มองว่าทรงตัว และเพียง 2% ที่มองว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
ส่วนสภาวะเศรษฐกิจแนวโน้มของรายได้ครอบครัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผลสำรวจพบว่า 33.6% ระบุเท่าเดิม 25.1% ระบุลดลง และ 28.7% ยังไม่แน่ใจ ส่วนแนวโน้มความรู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงาน 41.2% ยังรู้สึกมั่นคงเหมือนเดิม และ 9.7% รู้สึกมั่นคงมากขึ้น แต่ 32.8%ไม่แน่ใจ
ส่วนความเพียงพอของเงินเพื่อใช้จ่ายสำหรับตัวเองและครอบครัวในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า หัวหน้าครัวเรือนจำนวนมาก 41.3% ระบุว่าไม่พอใช้จ่าย และ 27.1% ยังไม่ได้คิดถึงอนาคตของการใช้จ่ายทางการเงิน ในขณะที่ 31.6 %คิดว่าเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
ส่วนพฤติกรรมการเก็บออมของหัวหน้าครัวเรือนพบว่า ส่วนใหญ่ 60.5% ระบุไม่มีการเก็บออม 39.5% มีการเก็บออม ซึ่งส่วนใหญ่เก็บออมในรูปแบบของการฝากเงินกับธนาคาร/การซื้อประกันชีวิต/ เก็บเงินสดไว้ที่บ้าน
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่ 76.1%มีหนี้สิน 23.9% ไม่มีหนี้สิน และที่น่าเป็นห่วง คือ ค่าเฉลี่ยของหนี้สิน เปรียบเทียบกับรายได้ของครอบครัวพบว่า มีค่าเฉลี่ยของหนี้สินสูงกว่ารายได้ของครอบครัวในทุกระดับรายได้ โดยครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท/เดือนแต่มีหนี้สินสูงถึงเกือบ 2แสนบาท หรือหนี้สินเฉลี่ย 172,195.84 บาท/ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ค่าเฉลี่ยความพอใจของหัวหน้าครัวเรือนต่อนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาลอยู่ที่ 5.28 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งถือว่าสอบผ่านเกินครึ่งมาเล็กน้อย
นายนพดล กรรณิการ์ ผอ.ศูนย์วิจัย เอแบคโพล กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยสภาวะเศรษฐกิจ ที่ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะหัวหน้าครัวเรือนไม่มีการเก็บออม และส่วนใหญ่มีหนี้สินล้นพ้นตัวเกินกว่าระดับรายได้ของครอบครัวที่มีอยู่ ขณะที่นโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนอาจเป็นเพียงความช่วยเหลือระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลควรใช้นโยบายรณรงค์หลักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงควบคู่ไปด้วย