ธ.ก.ส.เริ่มปล่อยเงินโครงการรับจำนำพืชผลเกษตร 1.1 แสนลบ.ตั้งแต่วันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 19, 2008 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)พร้อมให้เบิกจ่ายเงินในโครงการรับจำนำพืชผลเกษตร ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ภายใต้วงเงิน 1.1 แสนล้านบาทได้ตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 51/52 หลังจากธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง นำโดยธนาคารกรุงไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อในโครงการนี้ คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.95% ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการ ธ.ก.ส.เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.พร้อมจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันนี้ ในวงเงินไม่เกินคนละ 500,000 บาท โดยให้เกษตรกรที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ออกใบประทวนให้แล้วไปรับเงินได้ที่สาขาของ ธ.ก.ส.ที่กำหนดไว้

พร้อมมอบนโยบายให้ ธ.ก.ส.ทุกสาขา แจ้งให้เกษตรกรทราบถึงการดูแลผลประโยชน์ขอตนเอง ทั้งในเรื่องการลดความชื้น เพื่อรักษาคุณภาพข้าว ทำให้ข้าวขายได้ราคาดี การป้องกันปัญหาการทุจริต เช่น การสวมสิทธิ ซึ่งถือเป็นการทำลายระบบการรับจำนำให้บิดเบือนไปจากเป้าหมาย ทำให้ผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ตกถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีมีเป้าหมายปริมาณรับจำนำ 8 ล้านตัน ระยะเวลา 1 พ.ย. 51-28 ก.พ.52 ยกเว้นภาคใต้เริ่ม 1 ก.พ.-31 พ.ค. 52 โดยมีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับจำนำ ราคารับจำนำ ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ส่วนการจำนำที่ยุ้งฉางของเกษตรกร กำหนดบวกเพิ่มตันละ 1,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้านาปี ราคาจำนำตั้งแต่ตันละ 10,800-12,000 บาท, ข้าวเปลือกเหนียว 10 % เมล็ดยาวตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวชนิดตันละ 9,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 13,000 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 12,000 บาท

นายเอ็นนู กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้วงเงินดำเนินการรับจำนำประมาณ 97,000 ล้านบาท โดยในเดือน พ.ย.คาดว่าจะเบิกเงินกู้ได้ราว 2 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการเจรจากับแบงก์พาณิชย์ล่าช้า แต่ในเดือน ธ.ค.จะเบิกจ่าย 3.6 หมื่นล้านบาท ทยอยเบิกจ่ายให้ครบภายใน 6 เดือน

"วันนี้เกษตรกรที่ได้ทำสัญาล่วงหน้าในการรับจำนำก็จะรับเงินได้ทันที เชื่อว่าเมื่อมีเม็ดเงินถึงมือเกษตรกรก็จะทำให้มีเงินในการจับจ่ายใช้สอยเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อไป สำหรับเงินที่นำมาชำระแก่ธนาคารพาณิชย์ จะมาจากการขายข้าวในโครงการ โดยได้ตั้งคณะกรรมการดูแลการระบายข้าว โดยมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันดูแล ส่วนผลขาดทุนรัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยให้ต่อไป"นายเอ็นนู กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ