ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (20 พ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับ 94.060 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 95.900 เยน/ดอลลาร์ แต่ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.2242 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.2118 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.2457 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพุธที่ 1.2522 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.4726 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.4962 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.6086 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันพุธที่ 0.6377 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.5210 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.5431 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
เคน โกลด์สทีน นักวิเคราะห์จากสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยเอกชนของสหรัฐกล่าวว่า "ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงส่งผลให้นักลงทุนแห่เข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยง อาทิ พันธบัตรรัฐบาลและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและสกุลเงินหลักๆ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินเยน เนื่องจากนักลงทุนบางกลุ่มยังคงกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่"
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 15 พ.ย. พุ่งขึ้น 27,000 ราย แตะระดับ 542,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี จากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 515,000 ราย
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานเดือนต.ค.พุ่งขึ้น 0.4% แตะระดับ 6.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีครึ่ง และตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) เดือนต.ค.ร่วงลงอีก 240,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันยาวนานถึง 10 เดือน
ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค.ร่วงลง 1%ต่อเดือน ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการคำนวณดัชนี CPI ในปีพ.ศ.2490 ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค.ร่วงลงรุนแรงเป็นประวัติการณ์ถึง 2.8% ในเดือนต.ค.เนื่องจากราคาพลังงานลดลง
นอกจากนี้ สำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด รายงานว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนต.ค.ร่วงลง 0.8% แตะระดับ 99.6 จุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า