(เพิ่มเติม) รมว.คลัง หนุนแนวทางปรับโครงสร้างภาษีตามข้อเสนอเอกชน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 21, 2008 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวถึงข้อเสนอของภาคเอกชนให้มีการปรับโครงสร้างภาษี ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาว่า โครงสร้างภาษีดังกล่าวมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งบางเรื่องก็ได้หารือเบื้องต้นกับภาคเอกชนมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเห็นว่าประเทศที่มีการพัฒนารวดเร็วจะมีอัตราภาษีต่ำ และอัตราภาษีบางด้านมีอัตราสูงกว่าต่างประเทศ

"รัฐ 2 รัฐ นิวยอร์คกับแคลิฟอร์เนีย แคลิฟอร์เนียโตเร็วกว่าเพราะภาษีต่ำกว่า" นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวทางรายการวิทยุเช้านี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้เสนอแผนปรับโครงสร้างภาษีให้รัฐบาลพิจารณา ได้แก่ ขยายฐานการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล, ขยายฐานให้ผู้ที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 2 แสนบาท/ปี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี จากเดิมที่กำหนดไว้ 1.5 แสนบาท/ปี, ปรับลดการหักเก็บภาษี ณ ที่จ่ายจาก 3% ลดลงเหลือ 1%, ยกเว้นภาษีเงินได้กรณีปรับโครงสร้างหนี้, ต่ออายุมาตรการภาษีอสังหาริมทรัพย์ และลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ 0.01%

รมว.คลัง กล่าวว่า ถึงที่สุดก็ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพราะกรอบการจัดเก็บภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของไทยที่ 25% ยังสูงกว่าหลายประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง 16% สิงคโปร์ 20%

แต่ประเด็นสำคัญในการพิจารณาปรับลดโครงสร้างภาษีต้องคำนึงถึงความสามารถในการขาดดุลของรัฐบาล ซึ่งปีนี้มีกรอบการขาดดุลได้ราว 4.3 แสนล้านบาท และได้ดำเนินการไปแล้ว 3.5 แสนล้านบาท

"ตอนนี้ขอให้หน่วยราชการมีโอกาสดูเรื่องความเป็นธรรมในสังคม" นายสุชาติ กล่าว

สำหรับการต่ออายุมาตรการภาษีอสังหาริมทรัพย์ได้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปแล้วแต่พิจารณาไม่ทันเนื่องจากมีวาระการประชุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าคงจะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า

รมว.คลัง กล่าวว่า ในปีนี้รัฐบาลคงไม่สามารถดำเนินมาตรการด้านภาษีได้อย่างเต็มที่เพราะมีเพดานกำหนดอยู่ จึงต้องขอเวลาในการพิจารณาให้รอบคอบ และคงวางแผนระยะยาวล่วงหน้าไม่ได้มาก เพราะจะต้องให้สิทธิ รมว.คลังคนต่อไปเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อไปอีกหรือไม่

"การปรับโครงสร้างภาษีจะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจทันที ไม่มีคอรัปชั่น ปรับวันไหนได้วันนั้น ถ้าเขามีเงินเหลือก็ไปลงทุนเพิ่ม การจ้างงานที่คาดว่าจะหายไปก็ลดลง" นายสุชาติ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าหากเศรษฐกิจขยายตัว 3% จะมีคนว่างงานเพิ่มเป็น 1 ล้านคน แต่ถ้าขยายตัว 4% จะมีคนว่างงานเพิ่มเป็น 8-9 แสนคน จากปกติที่มีจำนวนคนว่างงานราว 5 แสนคน

"การปรับโครงสร้างภาษีคราวนี้ไม่ใช่เอาอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน แต่เป็นการสร้างปัจจุบันที่ดีขึ้นเพื่ออนาคตที่ดีกว่า"นายสุชาติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ