บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐแถลงเปิดตัวคณะทำงานด้านเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งมีขึ้น 57 วันก่อนที่จะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2552 และแทบจะไม่พลิกโผการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่
- "ทิโมธี ไกธ์เนอร์" ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ดำรงตำแหน่งรมว.คลัง ต่อจากนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังคนปัจจุบัน โดยไกธ์เนอร์ วัย 47 ปี เคยเป็นเจ้าหน้าที่คลังภายใต้การบริหารงานของนายโรเบิร์ต รูบิน และ นายลอเรนซ์ ซัมเมอร์ส อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือนาย เฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐคนปัจจุบันและทีมงาน ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในสถาบันการเงินของสหรัฐ รวมถึงแบร์ สเติร์นส, เลห์แมน บราเธอร์ส และเอไอจี
ไกธ์เนอร์ได้รับการยอมรับในวงกว้างทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนของสหรัฐ ซึ่งเมื่อมีข่าวเล็ดรอดออกมาว่า โอบามาพิจารณาเลือกไกธ์เนอร์ให้เข้ารับตำแหน่งขุนคลัง ดัชนีดาวโจนส์ก็พุ่งขึ้นทันทีกว่า 6% หลังจากดิ่งหนักมาเกือบตลอดสัปดาห์ที่แล้ว นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญด้านการเงินแล้ว ไกธ์เนอร์ยังมีความรู้ด้านภาษีที่หลากหลาย รวมทั้งภาษาจีนและญี่ปุ่น ทั้งนี้หากไกธ์เนอร์เข้ารับตำแหน่งรมว.คลังสหรัฐ ภารกิจที่สำคัญของเขาคือการพยายามทำให้จีนและญี่ปุ่นยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐต่อไป
ลิล แกรมลีย์ อดีตผู้ว่าการเฟดซึ่งปัจจุบันได้ผันตัวเองไปเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจอาวุโสให้กับบริษัท สแตนฟอร์ด กรุ๊ป กล่าวว่า การที่โอบามา แต่งตั้งไกธ์เนอร์เป็นรมว.คลัง จะส่งผลให้ความสำคัญของ เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ลดน้อยลงในฐานะบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการคลี่คลายปัญหาให้กับบริษัทในย่านวอลล์สตรีท นอกจากนี้ ไกธ์เนอร์จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของโอบามาว่า จะแต่งตั้งเบอร์นันเก้ เป็นประธานเฟดอีกสมัยหนึ่งหรือไม่ เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของเบอร์นันเก้หมดลงในเดือนม.ค.พ.ศ.2552
- "ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส" อดีตรมว.คลังในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ทั้งนี้ ซัมเมอร์ส วัย 53 ปี ได้รับความไว้วางใจจากโอบามา จากการที่เขาให้คำแนะนำโอบามาในระหว่างการหาเสียงเกี่ยวกับการรับมือภาวะล่มสลายทางการเงิน นอกจากนี้ ซัมเมอร์สจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและประสานงานกับที่ปรึกษาเศรษฐกิจคนอื่นๆ ทั้งนี้ ซัมเมอร์ส และ ไกธ์เนอร์ เคยทำงานร่วมกันใกล้ชิดมายาวนานและได้รับการยอมรับจากตลาดการเงิน
ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองมองว่า การเลือกซัมเมอร์สและไกธ์เนอร์เป็นไปตามสูตรของโอบามาในการวางตัวบุคคลที่มีชื่อเสียงและโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในตำแหน่งสำคัญๆในคณะรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้โอบามาชั่งใจระหว่างตัวเลือกทั้งสองที่ทำงานใกล้ชิดกันแต่มีสไตล์การทำงานต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ซัมเมอร์สมีบุคลิกโผงผาง ขณะที่ไกธ์เนอร์ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าซึ่งคล้ายกับโอบามา และในที่สุดว่าที่ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐ ก็เลือกบุคคลทั้งคู่มาทำงานร่วมกัน
- "ฮิลลารี คลินตัน" วุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ก ได้รับการวางตัวให้ดำรงตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ โดยฮิลลารีมีพื้นฐานทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างในสหรัฐ ทั้งในฐานะอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในรัฐบาลบิล คลินตัน และหนึ่งในนักการเมืองหญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐ
ฮิลลารี วัย 61 ปี เป็นคู่แข่งคนสำคัญของโอบามาในการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตที่จะเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เมื่อผลการคัดเลือกออกมาว่าโอบามามีคะแนนนำ ฮิลลารีก็แสดงสปิริตด้วยการโดดเข้าสนับสนุนโอบามาให้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับจอห์น แมคเคน อย่างเต็มตัว
แลรี่ โนเบล ที่ปรึกษาคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหรัฐ แสดงความเห็นว่า ฮิลลารีจะต้องตัดสินใจทางการเงินครั้งสำคัญด้วยการหาทางปลดหนี้ที่เกิดขึ้นจากการหาเสียงเลือกตั้งกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันนี้คลินตันมีหนี้สินอยู่ 7.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเธอไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ก้อนนี้ได้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี แต่คาดว่าโอบามาอาจเลือกใช้วิธีขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายระดมทุนของตนเอง เพื่อหาเงินมาโปะหนี้ให้ฮิลลารี
- "ราห์ม เอ็มมานูเอล" ส.ส.รัฐอิลลินอยส์ และอดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว
- "บิล ริชาร์ดสัน" ผู้ว่าการรัฐนิวเม็กซิโกและอดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ได้รับการวางตัวให้ดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์
- "ทอม ดาชเล่" อดีตผู้นำวุฒิสภาสหรัฐ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรมว.สาธารณสุขและบริการด้านสิทธิมนุษยชน โดยจะเข้ามาช่วยโอบามาในการยกเครื่องระบบประกันสุขภาพ
- "พลเอกเจมส์ โลนส์" อดีตผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการแห่งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ
- "อิริค โฮลเดอร์" อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำกระทรวงยุติธรรมในยุคของคลินตัน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรมว.ยุติธรรม
- "เจเน็ต นาโปลิทาโน" ผู้ว่าการรัฐอริโซนา ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งรมว.ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ
- "โรเบิร์ต เกตส์" ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม
ปีเตอร์ วอลลิสัน อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐกิจให้กับสถาบันวิสาหกิจแห่งอเมริกา กล่าวว่า "โอบามาเลือกสรรเฉพาะบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาในทีมเศรษฐกิจชุดนี้ บุคลากรกลุ่มนี้จะต้องงัดทักษะความรู้ที่มีอยู่ทั้งหมดออกมาเพื่อกู้วิกฤตเศรษฐกิจของชาติ อีกทั้งต้องร่วมมือกันปกป้องตลาดการเงินไม่ให้ล่มสลาย ซึ่งสิ่งแรกที่ควรทำก็คือผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะมีมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์หรือมากกว่า อีกทั้งพยายามสร้างงานรองรับประชาชนหลายล้านตำแหน่งหลังจากวิกฤตสินเชื่อสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง"
ขณะที่มาร์ติน ไบลี อดีตหัวหน้านักวิเคราะห์ประจำทำเนียบขาวในสมัยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์อยู่ที่ Brookings Institution ในกรุงวอชิงตัน คาดการณ์ว่า "โอบามากำลังเตรียมการเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ฉบับที่ 2 ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงเทียบเท่าแผน 7 แสนล้านดอลลาร์เดิม ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งหากแผนการดังกล่าวนี้ได้รับการเห็นชอบ ก็จะเป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้เงินจำนวนมากที่สุดโครงการหนึ่ง นับตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รุสเวลต์
ดรีมทีมเศรษฐกิจของโอบามาถูกจับตาดูมานับตั้งแต่ว่าที่ประธานาธิบดีผิวสีผู้นี้เปิดแชมเปญฉลองชัยชนะการเลือกตั้งเดือนพ.ย. โดยหลายฝ่ายมองว่าภารกิจยิ่งใหญ่ที่โอบามาจะต้องรับต่อจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช นั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการ "Mission Impossible" เนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินที่มีต้นตอมาจากสหรัฐกำลังลุกลามเข้าไปสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินทั่วโลก และส่งผลให้อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ สองบ่าของโอบามายังต้องแบกรับภารกิจฟื้นฟูอุตสาหกรรมการรถยนต์ที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ล่าสุด โอบามากล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ "60 Minutes" ทางสถานีโทรทัศน์ CBS ว่า รัฐบาลสหรัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ แรงงาน และสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ฟื้นตัวขึ้นอย่างยั่งยืน
"หากอุตสาหกรรมรถยนต์ล้มละลายก็ถือเป็นหายนะของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนเท่านั้น แต่รวมถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วประเทศด้วย ผมเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐควรให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ในรูปของการให้เงินกู้ยืมเฉพาะกาล (Bridge Loan) ซึ่งจะช่วยหนุนอุตสาหกรรมให้ขยายตัวแบบยั่งยืน หากปล่อยให้ปัญหาในอุตสาหกรรมรถยนต์เรื้อรังต่อไป ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) คงไม่รอดพ้นที่จะประสบภาวะล้มละลาย หรือเข้าสู่วงจรการปรับโครงสร้างองค์กร" โอบามากล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้ดำเนินรายการ 60 Minutes
ส่วนในประเด็นพลังงานนั้น โอบามากล่าวว่า "ราคาน้ำมันร่วงลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และการที่จะผลักดันให้สหรัฐลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศในระยะนี้อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สหรัฐควรจะทำ เพราะที่ผ่านมานั้นสหรัฐถลำเข้าสู่วงจร 'energy shock' ก็เพราะพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมากเกินไป จึงทำให้เราไปไม่ถึงไหน ดังนี้ ถึงเวลาแล้วที่อเมริกาจะต้องดิ้นให้หลุดจากวงจรนี้"
ทั้งนี้ โอบามากล่าวว่า "ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของผมในการเป็นประธานาธิบดีของประเทศนี้ คือการกอบกู้ความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา มิฉะนั้นเราคงได้เห็นธนาคารล้มละลายเหมือนกับในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และตลาดหุ้นอาจทรุดตัวลงมากกว่านี้"
ปฐมบทของดรีมทีมเศรษฐกิจโอบามาจะเริ่มขึ้นทันทีภายหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจบสิ้นลงในวันที่ 20 ม.ค.พ.ศ.2552 ... นับจากนั้นทุกความเคลื่อนไหวของดรีมทีมชุดนี้ โดยเฉพาะไกธ์เนอร์ จะถูกติดตามอย่างไม่ลดละ เพื่อดูว่าพวกเขาจะสามารถพาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามที่ทั่วโลกคาดหวังไว้หรือไม่