เลขาฯ สภาพัฒน์ เตือนตั้งรับคลื่นสึนามิเศรษฐกิจปี 52 ทวีความรุนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 25, 2008 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปีหน้าจะทวีความรุนแรงมากกว่าปีนี้ โดยหวังว่าสถานการณ์ความผันผวนทางการเมืองจะยุติโดยเร็ว เพื่อให้รัฐบาลมีโอกาสบริหารประเทศได้เต็มศักยภาพ แต่ยังเชื่อว่ารายได้จากภาคการเกษตรยังขยายตัวได้ดีจะมีบทบาทสำคัญช่วยกู้วิกฤตได้เหมือนเมื่อปี 40

"ผมคิดว่าคลื่นเศรษฐกิจที่เป็นสึนามิในปีหน้าแรงกว่าที่เราคิดเยอะ"นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวทางรายการวิทยุเช้านี้

สำหรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศในปีนี้ที่ระดับ 4.5% ซึ่งแถลงไปเมื่อวานนี้(24 พ.ย.)เป็นตัวเลขที่แท้จริง แต่เป็นตัวเลขต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งด้านหนึ่งถือเป็นความโชคดีที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ล่วงหน้า

"ตัวเลข(จีดีพี)ของสภาพัฒน์ที่แถลงเมื่อวานนี้(24 พ.ย.)เป็นตัวเลขที่เป็นจริง...ตัวเลขที่คาดการณ์ว่าปี 51 เราจะโตจริงคือมีผลิตภัณฑ์มวลรวมที่ผลิตออกได้จริงและเป็นรายได้ของประชาชนที่แท้จริงหักตัวเลขเงินเฟ้อจะโต 4.5%" นายอำพน กล่าว

สาเหตุที่สภาพัฒน์ต้องปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้มาอยู่ที่ 4.5% และ 3-4% ในปีหน้า เนื่องจากเห็นสัญญาณการลดกำลังการผลิตและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศในสัดส่วนสูงถึง 40% โดยในช่วงไตรมาส 1/51 ก่อนเกิดวิกฤติเลห์แมน บราเธอร์ส ภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวสูงถึง 9.5% แต่กลับลดลงเหลือ 7.7% ในไตรมาส 2/51

นายอพน กล่าวว่า ตอนแรกคิดว่าเป็นแค่สถานการณ์ชั่วคราว แต่ผลกระทบยังต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 3/51 โดยการขยายตัวลดลงเหลือ 6.1% และคาดว่าจะลดลลงอีกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณจากการท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศในสัดส่วน 5-10% ลดลงอย่างรวดเร็ว จากที่เคยขยายตัว 9.2% ในไตรมาสแรก ลดลงมาเหลือ 0.2% ในไตรมาสที่สาม ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กว่า 370 ล้านบาท นำไปใช้ประชาสัมพันธ์และทำการตลาด เพื่อพยุงสถานการณ์ไว้ไม่ให้เลวร้ายลงอีก

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของภาคการบริโภคในปีหน้าจะกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยที่ระดับ 3-3.5% จากปีนี้ที่ระดับ 2.5-3% ขณะที่ภาคการลงทุนมีความพร้อมในเรื่องโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ทั้งระบบขนส่งมวลชน, ถนน, น้ำ และสาธารณสุข หากสามารถผลักดันได้จะช่วยให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ถึง 7-8% และหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3-4/52 การลงทุนของภาคเอกชนก็จะฟื้นตัวตามมาด้วย

ทั้งนี้จะต้องพิจารณาว่านโยบายด้านการลงทุนจะเชื่อมโยงกับนโยบายด้านการเงินที่เข้มงวดหรือผ่อนปรนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดังนั้น นโยบายการเงินต้องสอดคล้องกับนโยบายการคลังคือต้องผ่อนปรนลงด้วย ซึ่งต้องพิจารณาตามสถานการณ์ แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเนื่องจากจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ