นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า บ้านเมืองต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีพลังเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นไทยจะเผชิญกับความยากลำบากมากกว่าประเทศอื่นในการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 52 เพราะแม้จะมีมาตรการออกมามากมายก็จะไม่เกิดประสิทธิภาพ
"หัวใจอยู่ที่ Trust and Confident เพราะการคิดมาตรการต่างๆออกมา เป็นเพียงการป้องกัน แต่หัวใจจริงๆ อยู่ที่ความเชื่อมั่น ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการเมืองมา 2 ปี เราเสียความเชื่อมั่น ลามไปสู่ความน่าเชื่อถือของประเทศ" นายสมคิด กล่าวในงานสัมนา"พลิกกลยุทธ์ รับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 52"
นับเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 ปีแล้วที่ประเทศไทยไม่อยู่ในภาวะปกติ ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดรัฐบาลที่มีพลังและความเชื่อมั่น ประชาชนขาดที่พึ่ง และไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเอง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มาเกิดในช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และบ้านเมืองที่เข้มแข็ง ดังนั้น โจทย์สำคัญของประเทศไทยคือการประคองไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยมากไปกว่านี้ และทำให้ประเทศไทย พัฒนาต่อไปโดยไม่สะดุด
นายสมคิด ชี้ 5 จุดเสี่ยงของประเทศไทยที่ต้องระมัดระวัง คือ ไม่ให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในระบบกลับมาซ้ำรอย เหมือนที่เคยเกิดในปี 40 โดยมองว่าสถาบันการเงินของไทยแม้จะมีความเข้มแข็ง แต่นโยบายการเงินก็ควรต้องสอดคล้องกับนโยบายการคลัง อย่าทำแบบต่างคนต่างไป และเห็นว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลดอัตราดอกเบี้ย แม้จะไม่สามารถหวังผลเลิศได้ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และการลงทุนของภาคธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่าปล่อยให้ประเทศตกอยู่ในภาวะวิตกกังวล จนไม่กล้าใช้จ่าย เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเงินฝืดไม่เช่นนั้นจะถอนตัวยาก เมื่อรู้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวจะต้องไม่กลัว ต้องตัดวงจร ต้องเชื่อมั่นและต่อสู้ ผู้ที่คุมกลไกเศรษฐกิจต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับประเทศ และก้าวพ้นไปให้ได้ เพราะถ้าก้าวไปไม่พ้นภาวะเศรษฐกิจจะย่ำแย่
รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์จากงบประมาณ โดยเลือกใช้ในโครงการที่ก่อให้เกิดกิจกรรมที่มีความหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่าให้ไปอยู่ในมือของประชาชนในภาวะไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย โดยเน้นย้ำให้นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
"การลดภาษีรัฐบาลต้องดูว่าลดไหวหรือไม่ในระยะเวลา 2-3 ปีทำได้มากน่อยแค่ไหน การที่เงินไปอยู่ในมือผู้บริโภคในภาวะเวิกตกกังวล จะเกิดประโยชน์หรือไม่ ควรนำเงินไปใช้กิจกรรมที่มีการหมุนเวียนในตลาดจะเกิดประโยชน์มากกว่า ท่านโอฬาร อย่าแบ่งเค้กโดยไม่ดูวัตถุประสงค์ " นายสมคิดกล่าว
นายสมคิด กล่าวอีกว่า อย่าปล่อยให้ประเทศไทยไม่มีความหมายบนเวทีโลก เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อศักยภาพการแข่งขันทางการค้าของไทย พร้อมมองว่าในปีหน้าแต่ละประเทศจะต้องมีการปฏิรูปนโยบายการเงินและนโยบายการค้า ดังนั้น บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องนี้จะต้องมีความชัดเจนมากขึ้น
และ อย่ามองสั้นต้องมองยาว โดยสิ่งที่ดำเนินการควรสอดรับกับการสร้างฐานในอนาคตข้างหน้เพื่อถ่วงดุลกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์
นายสมคิด ยังเปรียบเทียบไทยกับการเผชิญสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกว่าเหมือนคนที่ยืนฝ่าลมหนาว ทุกคนต่างเผชิญกับอากาศหนาว แต่เรามีไข้ ดังนั้นเท่ากับว่าเราต้องเผชิญทั้งลมหนาวและไข้อยู่ภายใน ซึ่งเราจำเป็นต้องเยียวยาทั้งอาการหนาวที่เกิดจากลม และที่เกิดจากไข้ ไม่เช่นนั้นจะยืนได้ไม่นาน ในขณะที่คนอื่นอยู่ได้
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องขจัดความกลัวในหัวใจของคนไทย และเรียกความเขื่อมั่นกลับมาให้ได้ เพราะถ้าทำไม่ได้ บ้านเมืองจะลำบาก
"ถ้ามีนโยบายดี ตั้งใจดี มีเอกภาพ พูดเสียงเดียว พูดจริงและทำจริง มีผลเห็นชัด ความเชื่อมั่นก็จะกลับคืนมา ถ้าทำไม่ได้บ้านเมืองจะลำบาก หลักๆคือ ทำให้บ้านเมืองไม่อยู่ในจุดเสี่ยงภัย" นายสมคิด กล่าว