(เพิ่มเติม) ธปท.เผยใช้นโยบายการเงินดูแลเสถียรภาพ ศก.-สภาพคล่อง-สินเชื่อ-ระบบแบงก์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 25, 2008 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ธปท.ยึดหลักการแนวทางดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ การดูแลสภาพคล่อง การปล่อยสินเชื่อในระบบ และความเข็มแข็งของสถาบันการเงิน โดยธปท.ยืนยันจะใช้หลักเกณฑ์ Basel II ในปี 52 ตามที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินไทยยังมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีสถาบันการเงินต่างชาติเข้ามาถือหุ้นก็ยังไม่พบว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาของบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเหมือนธนาคารพาณิชย์ของไทยที่ระดมเงินฝากมาปล่อยสินเชื่อ ไม่ได้ใช้วิธีการไปกู้ยืมเงินมาปล่อยกู้ต่อ ทำให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ดี มีกำไรต่อเนื่อง มีเงินกองทุนเข้มแข็ง และมีสภาพคล่องเพียงพอ

รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวในการสัมมนา"ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2551"ว่า ธปท.ให้ความสำคัญกับนโยบายการเงินที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ หลังจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มลดลง ทำให้การประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีบทบาทในการดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวมีเสถียรภาพ

แต่การใช้นโยบายการเงินด้วยการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยขั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ปกติ จะทำให้การส่งผ่านนโยบายการเงินทำได้ไม่เต็มที่เหมือนในภาวะปกติ และการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลภาวะเศรษฐกิจมีจำกัดมากกว่าการใช้นโยบายการคลัง เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถลดลงไปต่ำถึง 0% เพราะจะกระทบกับการออมของประเทศ ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของประเทศยังค่อนข้างต่ำคือ 36% ต่อจีดีพี ยังมีช่องทางที่จะใช้นโยบายการคลังได้อีกมาก

นายบัณฑิต กล่าวว่า ธปท.ยังจะต้องดูแลสภาพคล่องให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่ได้อยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าในระยะต่อไปเรื่องนี้จะเป็นประเด็นที่ท้าทายการทำงานของ ธปท.

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในระบบ ธนาคารพาณิชย์มีความกังวลในเรื่องความเสี่ยงเพราะเกรงจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนมากถึง 40% ของสินเชื่อทั้งระบบ และมีมาตรการต่างๆ ที่เข้ามาดูแลเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การมีสินเชื่อแบบผ่อนปรน การมีระบบประกันสินเชื่อ

นอกจากนี้ ธปท.จะดูแลให้ระบบธนาคารพาณิชย์ดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจะติดตามภาวะการเงินและหารือกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนั้น ธปท.จะเดินหน้าผลักดันการปรับโครงสร้างระบบสถาบันการเงินและการนำนโยบายที่สำคัญมาใช้ ได้แก่ การประกาศใช้หลักเกณฑ์ Basel II, แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 เป็นต้น

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 3 ธ.ค.นี้ คงจะมีการพิจารณาความคืบหน้าของสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากคาดการณ์เดิมอย่างมีนัยสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย และความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลง

ปัจจัยภายนอกประเทศยังมีผลต่อการเคลื่อนย้ายลงทุนในภูมิภาคเอเชียออกไป จะเห็นได้จากกตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนการชะลอตัวของตัวเลขเศรษฐกิจหลายด้านโดยเฉพาะด้านการส่งออก ส่วนราคาน้ำมันที่เคยเป็นข้อจำกัดในครึ่งปีแรก ครึ่งปีหลังก็ปรับลดลงมาแล้ว ซึ่งธปท.เห็นว่าความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ความผันผวนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ยุติไปแล้ว

"กนง.จะต้องประเมินความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อว่ามีต่อนโยบายดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน และภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4 ต่อเนื่องปี 52 จะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน กนง.จะมีการประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจ อัตราเงิเนฟ้อ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป" นายบัณฑิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ