"ประสาร"เตือนแบงก์ตั้งรับปี 52 คุมความเสี่ยง เครดิต-ดอกเบี้ย-สภาพคล่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 25, 2008 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวในหัวข้อ"กลยุทธทางการเงินรับมือวิกฤติการเงินโลก"ในการสัมมนา"ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2551"ว่า ความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์ควรจะระมัดระวังในปี 52 คือความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ ความเสี่ยงด้านเปลี่ยนแปลงระดับราคาทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย และ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

สำหรับความเสี่ยงในเครดิตมีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นกรณีของเครดิตสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยหลังจากเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อด้านส่งออกและท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของภาคธุรกิจทั้งสองกลุ่มชะละตัว ขณะเดียวกันคู่ค้าก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจด้วย

อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์ยังต้องพึ่งพารายได้จากการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างสูง แม้ว่าบางธนาคารจะมีความพยายามที่จะลดสัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ยมาเพิ่มในด้านค่าธรรมเนียม แต่ก็ยังต้องพึ่งพารายได้จากการปล่อยสินเชื่อมากกว่า 70% ดังนั้น การดูแลลูกค้าใหห้สามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาจึงมีความสำคัญ

"เวลาแดดออกก็กางร่มให้ลูกค้า แต่พอเวลาฝนตกต่างคนต่างเอาตัวรอด ลูกค้ากับแบงก์เหมือนเหรียญสองด้าน ถ้าลูกค้ารอดแบงก์ก็รอด"นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวว่า KBANK มีทีมงานวิเคราะห์และติดตามลูกค้า โดยลูกค้าที่มีภูมิคุ้มกันน้อยก็จะเข้ามาดูแลให้มีการปรับตัว ซึ่งธนาคารมีนโยบายเข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำและบริหารจัดการความเสี่ยงให้ลูกค้าอยู่แล้ว ลูกค้าเอสเอ็มอีแม้จะมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่า แต่การแก้ไขปัญหาด้านเครดิตทำได้น่าพอใจมากกว่าลูกค้ารายใหญ่

ส่วนความเสี่ยงด้านเปลี่ยนแปลงของระดับราคาทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง มองว่าจากปัญหาวิกฤติกการเงินในต่างประเทศจะกระทบกับสภาพคล่องในประเทศ หน่วยงานที่กำกับดูและจะต้องเข้ามาดูแลตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้น

นายประสาร เสนอแนะว่า รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในกการดำเนินนโยบายของรัฐบาล แม้บางนโยบายจะต้องใช้เวลา แต่ควรจะต้องสื่อออกมาให้ชัดเจน และไม่ควรมีภาพทะเลาะกันออกมาให้เห็น ความร่วมมือรัฐและเอกชนเป็นส่วนสำคัญในการให้กำลังใจ ขณะที่ เสถียรภาพการเมืองหากปล่อยให้ขัดแย้งก็จะทำให้ประเทศบอบช้ำและกระทบความเชื่อมั่น

ในแง่ของการกำกับดูแลสถาบันการเงินนั้น มองว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีแผนกำกับดูแลด้วยการเดินหน้า Basel II เป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะในประเด็นการบริหารจัดการความเสี่ยง แต่ในระดับโลกก็มีการทบทวนหลักเกณฑ์บางเรื่อง เช่น โครงสร้างระบบสถาบันการเงิน ยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการนำไปสู่จุดไหน รวมทั้ง การเพิ่มผู้เล่นมากขึ้น หรือการเพิ่มความสามารถการแข่งขัน

ขณะที่ภาคเอกชนโดยรวมคงต้องพยายามทำงานร่วมกัน ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท มีการบริหารความเสี่ยงทีรัดกุมมากขึ้น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ