ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 52 ให้เติบโตได้ 3-4% คือ การใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชน เพราะการจะหวังพึ่งการส่งออกที่เคยเป็นปัจจัยหลักเดิมดูจะเป็นเรื่องยากแล้ว เพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญต่างชะลอตัวลง และคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีกว่าจะฟื้นตัว
ดังนั้น ปีหน้าโอกาสที่จะเห็นการส่งออกของไทยไม่ขยายตัวหรือมีอัตราการเติบโตที่ 0% ก็มีความเป็นไปได้
อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล 1 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ปัญหาเศรษฐกิจอาจยืดเยื้อกินเวลามากกว่า 2 ปี สิ่งที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงอย่างมาก คือ จะทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่องไปในระยะ 2-3 ปี โดยไม่สร้างหนี้จนเกินกำลัง
รวมทั้ง จัดสรรเงินขาดดุลงบประมาณไปใช้ในโครงการที่เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน เช่น โครงการด้านสาธารณูปโภค ด้านแหล่งน้ำ ด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษา
"การตั้งงบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือว่าจำเป็น แต่ปัญหาเศรษฐกิจอาจเกิดนานกว่า 2 ปี เพราะฉะนั้นอาจต้องขาดดุลติดกัน 2-3 ปี ดังนั้นการจะแก้ปัญหาโดยโหมขาดดุลเพียงปีเดียวอาจจะมีปัญหา ต้องเผื่อไว้ 2-3 ปี ดูว่าขาดดุลมากจะสร้างหนี้มากไปหรือไม่ และควรลงทุนในสิ่งที่ประชาชนรอคอยและเป็นประโยชน์มากกว่าการแจกเงินให้กับประชาชน" ม.ร.ว.ปริดียาธร กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ"การเมืองไทยกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปี 52"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังแสดงความเป็นห่วงนโยบายการดูแลราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงต้นปีที่ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงมากเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลควรปล่อยให้มีการส่งออกข้าวเพื่อให้ได้ราคาดี แต่กลับเลือกใช้การรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังในราคาสูงกว่าตลาด ทำให้ต้องหมดงบประมาณไปจำนวนมาก
นโยบายดังกล่าว ยังส่งผลกระทบมาถึงการบริหารจัดการในขณะนี้ ทำให้การรับจำนำข้าวนาปีในฤดูการผลิตปีนี้ที่ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ในยามที่ข้าวราคาตก เนื่องจากรัฐบาลมีข้าวจำนวนมากค้างอยู่ในสต็อคสูงถึง 6.6 ล้านตัน เป็นข้าวที่เกิดจากเกษตรกรแห่นำมาจำนำในอดีต เพราะได้ราคาที่จูงใจ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มองว่านโยบายที่กลับด้านของรัฐบาลเช่นนี้ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยจะลดต่ำลงได้อีก ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จะกระทบต่อรายได้เกษตรกร ส่งผลมาถึงการบริโภคของภาคเอกชนที่ไม่สามารถขยายตัวได้ ในยามที่ประเทศต้องการพึ่งพาการบริโภคของเอกชนให้เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้ อดีตรมว.คลัง ยังแสดงความเห็นถึงข้อเสนอของภาคเอกชนให้ปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาว่า การลดอัตราภาษีเพื่อหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถทำได้ 2 ทาง ทางแรก คือ การลดภาษีเพื่อให้คนจ่ายภาษีน้อยลงและนำเงินส่วนนั้นไปจับจ่ายใช้สอย
หรือ อีกทางหนึ่ง คือ คงอัตราภาษีไว้เท่าเดิม แต่รัฐบาลนำงบประมาณไปใช้จ่ายในโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรง และมีผลต่อการจ้างงาน เพื่อให้มีเม็ดเงินมาจับจ่ายใช้สอยและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มองว่าทางเลือกที่สองจะเหมาะสมกับประเทศไทยในขณะนี้