"ณรงค์ชัย"แนะ 6 แนวทางรับมือศก.ถดถอยปี 52 นักวิชาการห่วงว่างงานพุ่งพรวด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 25, 2008 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย( เอ็มซิมแบงก์) แนะ 6 แนวทางการบริหารเศรษฐกิจของไทยรับมือการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ขณะที่อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กังวลวิกฤติรอบนี้จะเกิดปัญหาการว่างงานในปีหน้าราว 7 แสนถึง 1 ล้านคน พร้อมเสนอรัฐกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน

ประธานกรรมการเอ็กซิมแบงก์ เสนอแนวคิดในงานสัมนาหัวข้อ"นโยบายการบริหารจัดการเศรษฐกิจภาพรวมของไทยภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย"ว่า แนวทางที่จะรับมือกับวิกฤติโลก ได้แก่ แนวทางแรก ป้องกันไม่ให้ตลาดทุนตลาดเงินของไทยได้รับผลกระทบจากตลาดเงินตลาดทุนโลกรุนแรงเกินไป ด้วยการสร้างดีมานด์ของการลงทุน ทั้งในตลาดเงินและในตลาดทุน

แนวทางที่สอง ให้ดูแลสินเชื่อและสภาพคล่อง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี โดยผ่านกลไก ของธนาคารและระบบทางการเงินของรัฐ

แนวทางที่สาม เน้นนโยบายและมาตรการด้านการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน โดยมุ่งขยายฐานส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ในประเทศกำลังพัฒนา , การเพิ่มประเภทกิจการ และสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ, จัดมาตรการทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการส่งออกและการท่องเที่ยว

แนวทางที่ 4 เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินทั้งงบปกติ และงบเพิ่มเติม ให้มากที่สุด ในช่วงครึ่งแรกของปี 52 โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้จ่ายในภาคชนบท

แนวทางที่ 5 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม สาธารณูปโภค และ สาธารณูปการ ด้วยการลงทุนด้านการศึกษา และสังคม รวมถึงการลงทุนเมกะโปรเจกท์ด้านขนส่ง โดยเฉพาะเครือข่ายที่ใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางในการขนส่ง ตลอดจนการลงทุนด้านการประหยัด และพัฒนา พลังงานในรูปแบบต่างๆ

และแนวทางที่ 6 ดำเนินการให้เกิดความร่วมมือระดับหหุภาคี เช่น กลุ่มประเทศจีเอ็มเอส(อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง) อาเซียน และ อีสต์เอเชีย อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการเงิน, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เชื่อว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ น่าจะใช้เวลานานเป็นปี เพราะมีความรุนแรงและกว้างขวางกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีตที่จำกัดเพียงวงแคบ โดยจุดต่ำสุดของวิกฤติเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในช่วงกลางปี 52 ซึ่งในช่วงนั้นจะเห็นภาวะหดตัวของเศรษฐกิจและการว่างงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกลุ่มประเทศ จี3 ซึ่งปัญหาที่ยืดเยื้อจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวจะต่อเนื่องไปในปี 53

สำหรับมิติที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว คือปัญหาการว่างงาน รวมทั้งการลดระยะเวลาทำงาน หรือโอที ซึ่งผลจากวิกฤติครั้งนี้ ในปีหน้าคาดว่าไทยจะมีคนว่างงานราว 7 แสนถึง 1 ล้านคน ถือว่าค่อนข้างรุนแรงแม้ว่าจะยังไม่เท่ากับในปี 40

นายพรายพล มองว่า มาตรการเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจมหภาคที่รัฐบาลควรต้องนำออกมาใช้ มี 3 มาตรการ ได้แก่ การใช้นโยบายการคลัง ที่เชื่อว่าจะเห็นผลได้เร็วและตรงจุด กว่าการใช้นโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐ หรือการลดอัตราภาษี , นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นในช่วงนี้ เพราะจะเป็นตัวเสริมที่ดีในการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน และมาตรการการใช้จ่ายโดยภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ส่วนข้อเสนอภาคเอกชน ในเรื่องการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้น นายพรายพล เห็นว่า การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลน่าจะดีกว่าการลดภาษีบุคคลธรรมดา เพราะนิติบุคคลของไทยจ่ายภาษีสูงกว่าหลายประเทศ ในขณะที่บุคคลธรรมดามีฐานภาษีที่แคบมากอยู่แล้ว

ขณะที่ การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ก็เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ เพราะเป็นภาษีที่มีเม็ดเงินรายรับสูงสุดและสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี โดยวานนี้ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภีทร ได้เสนอให้รัฐลดภาษี VAT ลงเหลือ 4% จากเดิม 7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ