บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดเผยแผนเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่มีขึ้นก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 ม.ค.ปีหน้า โดยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 ปีของคณะทำงานภายใต้การนำของโอบามามีมูลค่าอย่างน้อย 5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดกระแสความวิตกกังวลและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อีกทั้งวางแผนที่จะ "ยกเครื่อง" งบประมาณการใช้จ่าย ด้วยการตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป
โอบามากล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะยังไม่คลี่คลายลงในระยะใกล้นี้และกว่าจะฟื้นตัวเต็มที่คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ดังนั้น แผนเศรษฐกิจของเขาจะมุ่งเน้นในเรื่องการลดยอดขาดดุลงบประมาณ และกระตุ้นการจ้างงานให้ได้ 2 ล้านตำแหน่งภายในปีพ.ศ.2553
ในโอกาสนี้ โอบามาประกาศแต่งตั้งนายปีเตอร์ ออร์สแซก อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจในรัฐบาลของอดีตปธน.บิล คลินตัน ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณประจำทำเนียบขาว โดยนายออร์สแซกดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณประจำ สภาคองเกรสตั้งแต่เดือนม.ค.2547 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ โอบามากล่าวว่า คณะทำงานของเขามุ่งมั่นที่นำพาประเทศไปในทิศทางใหม่ และจะไม่ยอมให้ประเทศชาติย่ำเท้าอยู่กับที่ อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของเขาจะยังคงขอคำปรึกษาจากสมาชิกพรรครีพับลิกันและหารือกับคณะทำงานของประธานาธิบดีบุชอย่างนอบน้อม เพราะตระหนักว่าไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถผูกขาดทำงานเพื่อประเทศชาติได้เพียงพรรคเดียว หากแต่ต้องร่วมมือกัน
ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐในรอบปีซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.55 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทะยานขึ้นแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้ในการฟื้นฟูภาคการเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในเรื่องนี้ โอบามากล่าวว่า "เราจำเป็นต้องวางแผนระยะยาวเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษบกิจ และจะต้องไม่ปล่อยให้ตัวเลขขาดดุลงบประมาณนี้ส่งผ่านไปถึงผู้นำรุ่นต่อไป การปฏิรูปงบประมาณไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่อาจปล่อยให้มีการนำเงินภาษีราษฎรในโครงการที่เปล่าประโยชน์ได้อีกต่อไป และจะไม่ยอมให้การเมืองเข้ามามีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจอีก เหมือนกับในปีพ.ศ.2546-2548 เกษตรกรผู้มั่งคั่งกลุ่มหนึ่งได้รับเงินอุดหนุนราว 49 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก"
โอบามายังกล่าวด้วยว่า การกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการควบคุมงบประมาณการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังนั้น นับเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การสร้างงานและการลงทุนอย่างชาญฉลาด จะเป็นอีกทางหนึ่งที่นำพาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ถูกต้องและเกิดผลดีในระยะยาว
"ผมเชื่อว่าสิ่งที่ชาวอเมริกันต้องการคือรัฐบาลที่ยอมรับสภาพความจริงที่เกิดขึ้นและลงมือแก้ไข พวกเขาไม่ต้องการรัฐบาลแบบอุดมคติและไม่ต้องการรัฐบาลที่เอาแต่ร่างแผนการแต่ไม่เคยลงมือทำ" โอบามากล่าว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การแถลงข่าวเปิดตัวแผนเศรษฐกิจและดรีมทีมเศรษฐกิจของโอบามา มีขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 หดตัวลง 0.5% มากกว่าที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.3% และเป็นสถิติที่หดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปีพ.ศ.2544 ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย
ดานา เพอริโน โฆษกทำเนียบขาวกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการที่แข็งแกร่งเพื่อยับยั้งภาวะถดถอย เราเชื่อว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีดีพีไตรมาส 3 หดตัวลงเกินคาดมาจากการที่ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้นนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงิน ดังนั้น มาตรการของรัฐบาลจึงมุ่งเน้นเรื่องการกระตุ้นตลาดสินเชื่อไม่ให้หยุดชะงัก"
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง 3.7% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบ 28 ปี เมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะลดลง 3.1% ขณะที่ภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายลง 17.6% ซึ่งเป็นการร่วงลงติดต่อกันยาวนานถึง 11 ไตรมาส
สำหรับรายชื่อบุคคลที่โอบามาได้คัดเลือก หรือ กำลังพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ซึ่งหลายคนยังคงต้องได้รับลงมติและการยืนยันจากวุฒิสภาก่อนเข้ารับตำแหน่ง มีดังนี้
- นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลัง
- นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ
- นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศ
- นายบิล ริชาร์ดสัน รมว.พาณิชย์
- นายทอม แดชเชิล รมว.บริการด้านสุขภาพและมนุษยชน
- พลเอกเจมส์ โจนส์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ
- นายเอริก โฮลเดอร์ รมว.ยุติธรรม
- นางเจเน็ต นาโปลิตาโน รมว.ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ
- นายโรเบิร์ต เกตส์ รมว.กลาโหม
- นายจอห์น บอยด์ รมว.เกษตร