องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ในปีหน้านี้ กลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980
คลอส สมิธ-เฮบเบล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ OECD กล่าวว่า "หลายประเทศในกลุ่ม OECD กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มนี้จะหดตัวลง 0.4% ในปีหน้า ตรงข้ามกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 1.4%"
"เศรษฐกิจของหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วในไตรมาส 3 ปีนี้และคาดว่าจะถดถอยลงอีกจนถึงไตรมาส 3 ของปีหน้า โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 0.9% ปีหน้า ส่วนประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น คาดว่าจะหดตัวลง 0.6% และ 0.1% ตามลำดับ ขณะที่ในประเทศอังกฤษซึ่งมีตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุดในบรรดาสมาชิก OECD มีแนวโน้มจะหดตัวลง 1.1% ตามด้วยอิตาลีที่มีแนวโน้มหดตัวลง 1.0% ส่วนที่สเปนมีแนวโน้มหดตัวลง 0.9% และฝรั่งเศสจะหดตัวลง 0.4% " สมิธ-เฮบเบลกล่าว
การเปิดเผยรายงานดังกล่าวของ OECD มีขึ้นหลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เปิดเผยคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า เนื่องจากวิกฤตสินเชื่อกระทบกระเทือนเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศต้องตัดสินใจลดดอกเบี้ย
จอร์เกน เอลเมสคอฟ ผู้อำนวยการฝ่ายศึกษานโยบายของ OECD กล่าวว่า สิ่งสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันคือ การทำอะไรก็ตามที่สามารถกระตุ้นความต้องการอย่างได้ผล ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพก็คือการลดภาษีสำหรับภาคครัวเรือนที่กำลังประสบภาวะสินเชื่อตึงตัว เพื่อที่ผู้คนเหล่านี้จะได้นำเงินออกไปจับจ่ายใช้สอย สำนักข่าวซินหัวรายงาน