อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ตลาดเอเชียพุ่งขึ้นวันนี้ หลังสหรัฐเผย GDP/Q3 หดตัวเกินคาด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 26, 2008 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยได้ส่งผลบดบังข่าวดีที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการฟื้นฟูตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ซึ่งความกังวลในเรื่องนี้ทำให้ธนาคารพาณิชย์ลังเลที่จะปล่อยเงินกู้ยืมระหว่างแบงค์

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์สกุลเงินดอลลาร์ประเภท 3 เดือนที่ตลาดโตเกียว (TIBOR) พุ่งขึ้นเป็นวันที่ 13 ติดต่อกัน แตะที่ระดับ 0.858% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในตลาดสิงคโปร์ (SIBOR) พุ่งขึ้น 0.12% แตะระดับ 2.205% และอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในฮ่องกง (HIBOR) พุ่งขึ้น 0.46% แตะระดับ 1.95%

ฮิโรอากิ ทากาฮาชิ นักวิเคราะห์จากอินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์กล่าวว่า "ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในสภาพไร้ทิศทางและผันผวนรุนแรง ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆในเอเชีย เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น ซึ่งทำให้ภาวะทางธุรกิจซบเซาลงด้วย"

ธนาคารพาณิชย์ในเอเชียหลีกเลี่ยงการปล่อยกู้ให้กับบริษัทต่างๆ หลังจากผลประกอบการของบริษัทลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกาถดถอยลง และหลังจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐที่ตกต่ำลงได้ฉุดรั้งผลประกอบการของโตโยต้าทรุดตัวลงด้วย นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทโบรกเกอร์ทั่วโลกได้ปรับลดจ้างงานลงจำนวนมาก หลังจากมูลค่าทางบัญชีโดยรวมลดลงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ปรับตัวสูงขึ้นแม้มีรายงานว่า เฟดประกาศใช้มาตรการฟื้นฟูตลาดที่อยู่อาศัยและเพิ่มการปล่อยกู้ให้กับผู้บริโภค มูลค่ารวม 8 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งแผนการล่าสุดของเฟดครอบคลุมถึงการที่เฟดจะซื้อหนี้และหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนองมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนของสินเชื่อเพื่อการจำนอง อีกทั้งอัดฉีดเงินกู้สำหรับนักศึกษา เงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ และบัตรเครดิต

นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มถดถอย หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 หดตัวลง 0.5% มากกว่าที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.3% และเป็นสถิติที่หดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปีพ.ศ.2544 ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ