นายลวรณ แสงสนิท รองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังในเดือน ต.ค.51 พบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีสัญญาณขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว
ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในเดือนต.ค.51 ขยายตัวต่อเนื่องแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอลง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนต.ค.ขยายตัว 8.4% ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 16% เนื่องจากมีปัจจัยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ และยุโรป และปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้ด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนต.ค.ขยายตัว 13.2% ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 19.2% สะท้อนถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศทั้งจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 2% ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 10.1%
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังพบว่ารายได้รวมของ 3 กรมจัดเก็บภาษีเท่ากับ 105.0 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับต่ำที่ 0.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน และจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีสัญญาณชะลอตัว ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากภาษีฐานรายได้พบว่าขยายตัวในระดับต่ำที่ 2.1% สะท้อนผลประกอบการของภาคธุรกิจและรายได้ของประชาชนที่ชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่ภาษีฐานการบริโภค(ภาษีมูลค่าเพิ่ม)ขยายตัว 9.2% สะท้อนถึงการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
การส่งออกในเดือนต.ค.51 มีสัญญาณชะลอลง โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 15.3 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวในระดับต่ำเพียง 5.2% การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำเป็นผลจากการชะลอตัวและหดตัวของการส่งออกสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัวและถดถอย
สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานในเดือนตุลาคม 2551 พบว่า ผลผลิตภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวลงเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา เริ่มปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการของโลกชะลอตัวประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับลดลงมาก ในขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในเดือนต.ค.มีทั้งสิ้น 1.1 ล้านคน ลดลง 6.4% ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 15.9% เป็นผลจากความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็นหลัก
ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเสถียรภาพภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค.ชะลอลงมาอยู่ที่ 3.9% อัตราการว่างงานในเดือนก.ย.51 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1
สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เดือนก.ย.51 อยู่ที่ 36.2% ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 50% ค่อนข้างมาก ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิสิ้นเดือนต.ค.51 อยู่ในระดับสูงที่ 103.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4 เท่า