รศ.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 52 จะมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงเติบโตได้ประมาณ 3.6-4% อัตราคนตกงานไม่ถึง 1 ล้านคน อย่างที่หลายฝ่ายกังวล
"เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540- 2541 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบ แต่ช่วงดังกล่าวยังมีอัตราว่างงานอยู่แค่ 4% จากผู้ใช้แรงงานทั้งประเทศที่มี 37 ล้านคน แต่หากปีหน้า สถานการณ์เลวร้ายลงคาดว่าจะมีคนตกงานอย่างมากที่สุดไม่เกิน 1.5 ล้านคน"ที่ปรึกษา SCRI กล่าว
ขณะนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มพนักงานบริษัทฯ ตื่นตระหนกต่อข่าวเกี่ยวกับการปลดพนักงาน ทำให้หลายคนกังวล แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมก็จะสามารถรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ เช่น ลดค่าใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย และหันมาออมเงินมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรลดการใช้จ่ายในสินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากภาครัฐปล่อยให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในลักษณะเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดได้ในอนาคต
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI)กล่าวว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่การชะลอตัวของการส่งออก โดยทิศทางของการส่งออกช่วงไตรมาส 4/51 และปี 52 อาจชะลอตัวมากกว่าคาด โดยในปีหน้าส่งออกอาจจจะขยายตัวได้แค่ 2-6% จากปี 51 ที่ขยายตัว 15-20%
"ในเบื้องต้นประเมินว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมากในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา"นายสุกิจ กล่าวในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ Crisis Watch Series 2:November 2008 ในการสัมมนา“ผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลกต่อการจ้างงานในประเทศไทย"
สำหรับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/52 หลังจากนั้นทุกอย่างจะเริ่มฟื้นตัว โดยเหตุที่สหรัฐฟื้นตัวล่าช้ามาจากความไม่ชัดเจนของกระบวนการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงิน ซึ่งควรจะได้ข้อสรุปและดำเนินการตามแผนกู้วิกฤติที่มีวงเงิน 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ รมว.คลังของสหรัฐฯ เปลี่ยนแผนจากเดิมทำให้เกิดความล่าช้า