ดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ญี่ปุ่นพุ่งติดต่อกัน 15 วัน หลังแบงค์พาณิชย์เมินปล่อยกู้แม้ BOJ ลดดอกเบี้ย

ข่าวต่างประเทศ Monday December 1, 2008 11:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์สกุลเงินดอลลาร์ประเภท 3 เดือนที่ตลาดโตเกียว (TIBOR) พุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 15 ในวันนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นลังเลที่จะปล่อยกู้ เนื่องจากการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่ได้ช่วยให้บริษัทเอกชนคลายความกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ได้

ฮิเดอากิ คิโนชิตะ นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ กล่าวว่า "อัตราดอกเบี้ย TIBOR พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.876% จากระดับ 0.797% เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ในตลาดสินเชื่อตกอยู่ในภาวะตึงตัวที่สุดในรอบกว่า 1 ปี สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บีโอเจต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ไม้ให้พุ่งสูงขึ้น"

"ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในญี่ปุ่นลังเลที่จะปล่อยกู้ จึงทำให้ระบบการเงินตึงตัวและทำให้บริษัทหลายแห่งไม่มีเงินสดมากพอที่จะใช้ในช่วงปลายปี" คิโนชิตะกล่าว

BOJ ได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงสู่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.5% ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค.เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมาพอที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินทั่วโลกได้

สถานีโทรทัศน์ NHK รายงานว่า BOJ จะจัดการประชุมฉุกเฉินในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเรื่องการใช้มาตรการปล่อยเงินกู้พิเศษให้กับภาคเอกชนของญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นการดำเนินการครั้งแรกของบีโอเจเนื่องจากบริษัทเอกชนภายในประเทศกำลังเผชิญความยากลำบากในการระดมทุน อันเป็นผลมาจากธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นระมัดระวังเรื่องการปล่อยกู้มากขึ้น

ที่ผ่านมานั้น บีโอเจได้พยายามหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวขึ้น รวมถึงการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.3% เมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นหดตัวลง 0.4%ต่อปี ซึ่งรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.1% และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากภาคเอกชนและภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายลง สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ