(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย พ.ย. CPI ขยายตัว 2.2% Core CPI ขยายตัว 2.0%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2008 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)ในเดือน พ.ย.51 อยู่ที่ 121.5 เพิ่มขึ้น 2.2% จากเดือน พ.ย.50 แต่ลดลง 1.2% จากเดือน ต.ค.51 เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย CPI เฉลี่ย 11 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ย.)ปี 51 ขยายตัว 5.9%

"เงินเฟ้อเดือนพฤศจิกาฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 1 ปี จากเดือนตุลาคม 50 ที่ระดับ 2.5%" นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการแถลงข่าว

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ต.ค.51 อยู่ที่ระดับ 108.3 เพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือน พ.ย.50 แต่ลดลง 0.3% จากเดือน ต.ค.51 โดย Core CPI เฉลี่ย 11 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 2.5%

สำหรับดัชนีสินค้าหมวดอาหารในเดือน พ.ย.51 อยู่ที่ 145.0 เพิ่มขึ้น 15.4% จากเดือน พ.ย.50 และเพิ่มขึ้น 1.0% จากเดือน ต.ค.51 ขณะที่ดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารในเดือน พ.ย.51 อยู่ที่ 108.0 ลดลง 5.9% จากเดือน พ.ย.50 และลดลง 2.9% จากเดือน ต.ค.51

นายศิริพล กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงจากเดือนก่อนเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมากเป็นหลัก โดยราคาน้ำมันดิบดูไบขณะนี้อยู่ที่ 47.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 93% จากเมื่อวันที่ 4 ก.ค.51 ซึ่งปรับตัวขึ้นไปสูงถึง 140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์ จาก 33 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยในเดือน ต.ค.51 อัตราเงินเฟ้อของมาเลเซียอยู่ที่ 7.6%, ฟิลิปปินส์ 11.2%, อินโดนีเซีย 11.8%, สิงคโปร์ 6.4%, เวียดนาม 26.7%, จีน 4.0% และสหรัฐ 3.7%

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี 51 อยู่ในระดับไม่ถึง 6% หรือ 5.6-5.9% ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ไว้ที่ 5.9-6.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 52 คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 4% โดยมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวในกรอบ 2.5-3.5% แต่จะไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อติดลบตามที่มีนักวิชาการคาดไว้ ขณะที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามต้นทุนราคาวัตถุดิบ ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองนั้นจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมต่ออัตราเงินเฟ้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ