สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐ (NBER) ยอมรับว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีพ.ศ.2550 และคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญช่วงขาลงไปจนถึงกลางปีพ.ศ.2552 ซึ่งนับเป็นภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่สหรัฐเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในช่วงปีพ.ศ.2524-2525
NBER ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐ ระบุว่า นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจและเศรษฐกิจได้ประชุมร่วมกัน โดยได้มีการรวบรวมข้อมูลรอบด้าน รวมถึงข้อมูลจ้างงาน จากนั้นได้สรุปอย่างเป็นทางการว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนธ.ค.ปีพ.ศ.2550 โดยเศรษฐกิจยุติการขยายตัวนับตั้งแต่เดือนดังกล่าว หลังจากที่ขยายตัวมานานราว 73 เดือน
ด้านทำเนียบขาวแห่งประธานาธิบดีสหรัฐได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานดังกล่าว "อันที่จริงแล้วประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เป็นคนแรกที่ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะ "ถดถอย (recession)" แต่คณะทำงานของบุชพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำนี้"
อย่างไรก็ตาม โทนี่ แฟรทโต โฆษกของ NBER กล่าวว่า "ใครเป็นผู้ระบุคำว่าถดถอยก่อนหรือหลัง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเมื่อภาวะถดถอยเกิดขึ้นแล้ว เราควรจะรับมืออย่างไรและจะทำอย่างไรให้ภาวะนี้สิ้นสุดลง และจะทำอย่างไรให้วิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อและตลาดการเงินกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด"
ประธานาธิบดีบุชกล่าวให้สัมภาษณ์ทางรายการ "World News" ของสถานีโทรทัศน์ ABC เมื่อคืนนี้ว่า "ผมรู้สึกเสียใจกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และยอมรับว่าวิกฤตการณ์การเงินที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสหรัฐและลุกลามไปทั่วโลกนั้น ส่งผลให้มีคนตกงานหลายล้านคน อย่างไรก็ตาม ผมสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อยุติวงจรเศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่สภาคองเกรสสหรัฐอนุมัติมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา"
ด้านนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวแสดงความเห็นถึงการที่ NBER ออกแถลงการณ์บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2550 ว่า "ผมไม่คิดว่านี่เป็น 'ข่าวใหญ่' สำหรับชาวอเมริกัน เพราะประชากรของประเทศเทศสามารถปรับตัวกับภาวะเศรษฐกิจได้มาโดยตลอด อันที่จริงรัฐบาลสหรัฐมองเห็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญมาก่อนหน้านี้ และหาทางรับมือมาโดยตลอด รวมถึงการผลักดันให้มีการใช้มาตรการฟื้นฟูภาคการเงินและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ"
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 หดตัวลง 0.5% มากกว่าที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.3% และเป็นสถิติที่หดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปีพ.ศ.2544 ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การที่ NBER ได้ออกมายอมรับอย่างเป็นทางการว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วนั้น ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเมื่อคืนนี้ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลง 679.95 จุด หรือ 7.70% ปิดที่ 8,149.09 จุด ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเดือนม.ค.ร่วงลง 5.15 ดอลลาร์ หรือ 9.46% ปิดที่ 49.28 ดอลลาร์/บาร์เรล อีกทั้งส่งผลให้ราคาทองคำร่วงลงกว่า 40 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ด้วย