ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยเป็นลบ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday December 2, 2008 09:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันจัดอับดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่าง ประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-term Local Currency IDR) ของประเทศไทยที่ ‘BBB+’ และ ‘A’ ตามลำดับ แต่ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยเป็นลบ จากแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-term Foreign Currency IDR) ที่ ‘F2’ และ Country Ceiling ที่ ‘A-’ (A ลบ)

วินเซนต์ โฮ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของฟิทช์ กล่าวว่า การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยในครั้งนี้ สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่า ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานไม่มีแนวโน้มที่จะจบลงโดยเร็วและอาจบั่นทอนพื้นฐานทางเครดิตของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ในช่วงที่การบริหารประเทศไม่มีประสิทธิภาพและขาดความน่าเชื่อถือ นโยบายทางเศรษฐกิจอาจถูกละเลยหรือเกิดความผิดพลาด ทั้งๆที่ในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการหดตัวอย่างแรงของเศรษฐกิจ

ฟิทช์ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงเหตุการณต่างๆ เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร การยุบพรรคการเมืองที่สำคัญบางพรรค การประท้วงรัฐบาลที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเลือกตั้งไม่ได้แก้วิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย และขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์ที่มีการคุมเชิงกันอยู่จะจบลงอย่างไร และจะใช้เวลานานอีกเท่าไหร่กว่าเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยจะกลับคืนมาเพื่อที่ จะทำให้รัฐบาลสามารถหันมาทุ่มเทกับการแก้ปัญหาด้านอื่นๆ ได้

ทั้งนี้ ฟิทช์เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ท้าทาย เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่คาดว่าจะลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ฟิทช์ยังกล่าวอีกว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางการเมืองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายภาครัฐบาลได้ปรับตัวลดลงในขณะที่ระดับสินค้าคงเหลือเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยทั้งสองคิดเป็นประมาณสองในสามของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ฟิทช์ได้ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ 0.9% สำหรับปี 2552 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดหลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540-2541


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ